ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ปิ่น นันทะเสน” ผู้ชนะเลือกตั้ง “นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข” ยันจะทำหน้าที่ผลักดันให้เกิดสภาวิชาชีพให้ได้ภายใน 6 เดือนหลังรับงานจาก “ไพศาล บางชวด” แม้ยังไม่ได้รับการรับรองผลเลือกตั้ง เหตุมีผู้ยื่นคัดค้าน พร้อมเตรียมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนหมออนามัยหลังจากมีสภาวิชาชีพแล้ว และกำหนดนิยามมาตรา 3 พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุข ย้ำหมออนามัยจะต้องทำงานรักษา ส่งเสริม ป้องกัน เป็นที่พึ่งของคนในพื้นที่

นายปิ่น นันทะเสน กล่าวว่า หลังจากการชนะการเลือกตั้งเป็น “นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข” เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับการรับรองผลการเลือกตั้งจากนายทะเบียนสมาคมอำเภอเมืองนนทบุรี เนื่องจากมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งและการแต่งตั้งกรรมการบริหารสมาคมชุดใหม่ นายทะเบียนจังหวัดนนทบุรี จึงชะลอการแต่งตั้ง เป็นการชั่วคราวไว้ก่อน แต่คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้

นายปิ่น กล่าวว่า ในช่วงที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากนายทะเบียน และการส่งมอบงานจาก นายไพศาล บางชวด อดีตนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขนั้น ตนและคณะได้เตรียมการเพื่อเดินหน้าทำให้เกิดสภาการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพสาธารณสุข ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556  เพื่อให้ได้มาซึ่งคณะกรรมการสภาการวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตําแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งจากหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย 12 คน และกรรมการซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิก จำนวน 12 คน  รวมทั้งหมด 24 คน  ซึ่งบัดนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้วการดำเนินการเรื่องนี้ยังไม่แล้วเสร็จ 

ส่วนของการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนหมออนามัยนั้น หลังจากที่มีสภาวิชาชีพแล้ว จะเร่งนำเรื่องเข้าหารือในสภาวิชาชีพ เพื่อให้กำหนดนิยามของ มาตรา 3 ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขฯ ในส่วนของ (3) การตรวจประเมินและการบําบัดโรคเบื้องต้น การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และการวางแผนครอบครัวตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด และ (4) การตรวจประเมินอาการเจ็บป่วย และการช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อการส่งต่อตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกําหนด ดังนั้นคณะกรรมการจึงต้องเป็นผู้กำหนดว่าจะให้หมออนามัยทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพื่อให้หมออนามัยสามารถทำหน้าที่ในชุมชนได้อย่างสมบูรณ์

“เราจะเอาระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2539 เรื่องการดำเนินงานของสถานีอนามัยว่าให้ทำอะไรได้บ้างมาเป็นตัวตั้งในการเสนอหลักสูตรที่เหมาะสม เพื่อให้หมออนามัยได้ทำงานในชุมชน  เพราะเราต้องดูแลพี่น้องมารับบริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และต้องส่งต่อไปรับการรักษา ส่วนการส่งเสริมและการฟื้นฟูสุขภาพ เป็นหน้าที่หลักของหมออนามัยอยู่แล้ว” นายปิ่น กล่าวและว่า เมื่อได้หลักสูตรที่เหมาะสมมาแล้ว สำหรับผู้ที่เรียนคณะสาธารณสุขศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยที่มีหน่วยกิตด้านการรักษาเบื้องต้นน้อยกว่าหลักสูตรของวิทยาลัยสาธารณสุข (วสส.) กระทรวงสาธารณสุข ก็สามารถมาเรียนเพิ่มเติมกับ วสส. และ ผู้จบ วสส. ก็สามารถไปเรียนวิชาการเพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่จบด้านนี้จากทุกสถาบัน

สำหรับนโยบายหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุขนั้น นายปิ่น กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขออกนโยบายนี้ ในนโยบายมีเพียง แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพ แต่ไม่ได้พูดถึงหมออมานัย ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด่านหน้าก่อนที่ผู้ป่วยจะไปถึงโรงพยาบาล ดังนั้นจึงต้องผลักดันให้เกิดสภาวิชาชีพขึ้นให้ได้ แต่อย่างไรก็ตามอีกแง่หนึ่งกระทรวงคงคิดว่าหมออนามัยทำได้ทุกอย่าง จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการขาดแคลนหมออนามัย แม้แต่ในส่วนของการบรรจุเข้าเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ หมออนามัยก็ไม่ได้รับความสำคัญเท่าวิชาชีพอื่น แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของหมออนามัยพร้อมที่จะทำงานหมอครอบครัวอย่างเต็มที่

นายปิ่น กล่าวว่า แม้แต่นโยบาย DHS (District Health System) ซึ่งเป็นระบบสุขภาพระดับอำเภอ นั้น ตนเห็นว่างบประมาณไม่ควรจะลงไปอยู่ในโรงพยาบาล แต่ควรจะอยู่กับอำเภอ ซึ่งมีนายอำเภอเป็นประธานในการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ เพราะเมื่องบประมาณลงในโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) ซึ่งดูแล รพ.สต. ในพื้นที่จะต้องไปของบประมาณจากโรงพยาบาลมาจัดการด้านสุขภาพ หาก สสอ.ใดมีความสัมพันธ์ที่ดีกับโรงพยาบาล การทำงานก็เป็นไปด้วยดี แต่หากขัดกันการของบประมาณก็ลำบาก.