ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลงานวิชาการ/นวัตกรรมการจัดบริการที่ดีสำหรับประชาชน จาก 13 เขตบริการสุขภาพทั่วประเทศ เผยในรอบ 2 ปี เกิดผลงานฯ 130 เรื่อง นำไปใช้ได้จริง ชี้ ความสำเร็จของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ มาจากความมุ่งมั่นบุคลากรทั่วประเทศ และความร่วมมือจากราชวิทยาลัย ชมรม สมาคม ภาครัฐ เอกชน ประชาชนเข้าถึงสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไกล

วันนี้ (9 กันยายน 2558) ที่ โรงแรมเซนทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ กทม. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ปี 2558 เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในเขตสุขภาพ เป็นเวทีแสดงผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดบริการที่ดีสำหรับประชาชนผู้เข้าประชุมประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลางและภูมิภาค คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพ และผู้ปฏิบัติทุกสาขาในทุกเขตสุขภาพรวม 900 คน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการดำเนินงานของเขตสุขภาพ 13 เขต ซึ่งมีความครอบคลุมสถานบริการเขตฯ ละ 4-8 จังหวัด ดูแลประชาชนประมาณ 5 ล้านคน มีระบบเชื่อมโยงกันเป็น “เครือข่ายบริการที่ไร้รอยต่อ” ตามสภาพข้อเท็จจริงทางภูมิศาสตร์และการคมนาคม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้มีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ขจัดสภาพการแข่งขัน เพิ่มคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพ ทำให้ประชาชนได้รับบริการเบ็ดเสร็จภายในเครือข่ายบริการ มีคุณภาพ มาตรฐาน ทั่วถึง เป็นธรรม และมีระบบบริหารจัดการที่มีเอกภาพ ที่สำคัญคือประชาชนมีความสุขในการมาใช้บริการ ที่สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไกล และเมื่อทุเลาแล้ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข

ทั้งนี้ได้จัดทำแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ระยะเวลา 5 ปี มุ่งพัฒนาระบบบริการตั้งแต่ ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง แก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญ 10 สาขา และในปี 2558 ได้เพิ่มอีก 1 สาขา ได้แก่ สาขาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน 

ผลการพัฒนาในรอบ 2 ปี เกิดผลงานวิชาการ นวัตกรรมการบริการที่ดีสำหรับประชาชน( Best Practice) มากถึง 130 เรื่อง จาก 13 เขตสุขภาพ อาทิ การลดระยะเวลาการส่งต่อผู้บาดเจ็บทางสมอง การพยาบาลผู้ป่วยหอบหืด การป้องกันการเกิดโรคสมองขาดเลือดในผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นพลิ้ว การปลูกถ่ายไขกระดูก ระบบช่องทางด่วนผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น โดยจะคัดเลือกผลงานระดับเขตฯ เหลือ 39 เรื่อง และคัดเลือกเป็นรางวัลระดับประเทศ 3 รางวัล และจะให้จัดทำเป็นคู่มือการทำงาน เพื่อนำไปใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเต็มที่       

“ความสำเร็จของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ มาจากความมุ่งมั่นและตั้งใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรในระดับเขต/จังหวัด/อำเภอ/ตำบล สถานบริการสุขภาพทุกระดับ และความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดี อาทิ ผู้ทรงคุณวุฒิจากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ ราชวิทยาลัย ชมรม สมาคมที่เกี่ยวข้อง จากภาครัฐและเอกชน เป็นต้น ที่ได้ทำงานบริหารจัดการร่วมกัน พัฒนาระบบบริการให้เข้มแข็งมีคุณภาพมาตรฐาน ประชาชนเข้าถึงบริการใกล้บ้าน” นพ.ณรงค์ กล่าว