ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ สธ.ยืน 2 ขา เล่นบทบาททั้งผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ทำประชาชนเสียประโยชน์ เหตุดูแลสิทธิการรักษาไม่เต็มที่ คอยห่วง รพ.ขาดทุน กระทบบริการในระบบบัตรทอง แนะ สธ.ทำหน้าที่ทำหน้าที่ผู้ดูแลกองทุนซื้อบริการสุขภาพแทนประชาชนในทุกกองทุน แต่ต้องโอน รพ.ออกนอกสังกัด ถ้าทำได้ก็โอน สปสช.กลับมาเป็นกรมได้ ด้าน “ดร.อัมมาร” ระบุ บทบาท สธ.-สปสช.ปัจจุบันแยกไม่ออก ต้นเหตุจากการเมือง สธ. ทำบริหาร 2 หน่วยงานก้าวก่ายกัน แนะต้องแยกขาด

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการแถลงข่าว “การปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า: สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ” ถึงบทบาทหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในระบบสุขภาพว่า แม้ว่าบทบาท สธ.จะอยู่ในฐานะผู้ซื้อ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับ รมว.สาธารณสุข และผู้ให้บริการที่มีโรงพยาบาลอยู่ภายใต้สังกัด แต่ได้เทน้ำหนักไปยังบทบาทผู้ให้บริการเป็นหลัก ซึ่งหาก สธ.ต้องการมีบทบาทในฐานะผู้ดูแลจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพด้วยนั้น ควรดูเฉพาะผลประโยชน์ประชาชนในฐานะผู้ซื้อเท่านั้น และโอนโรงพยาบาลให้กับหน่วยงานอื่นดูแลหรือให้ออกนอกระบบ เพราะจุดยืนระหว่างผู้ซื้อและผู้ให้บริการนั้นต่างกัน ซึ่งหากต้องการต่อรองในฐานะผู้ดูแลระบบสุขภาพเพื่อประชาชน แต่ยังยืนอยู่ในฐานะเจ้าของโรงพยาบาลด้วยแล้ว จะทำให้การต่อรองขาดความชัดเจน และไม่ว่าอย่างไร สธ.จะต้องเอียงเข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสมอ

อย่างไรก็ตามหาก สธ.ยันยืนที่จะคง 2 บทบาทต่อ ไม่ว่าบทบาทจะโน้มเอียงไปยังผู้ซื้อหรือผู้ให้บริการ ท้ายสุดผลเสียจะตกกับประชาชน ซึ่งกรณีที่ สธ.บริหารโดยโน้มเอียงไปยังโรงพยาบาลเป็นหลัก ประชาชนที่เป็นผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เต็มที่ เพราะ สธ.ต้องคอยกังวลการบริหารโรงพยาบาลที่ต้องไม่ขาดทุน ส่งผลต่อการต่อรอง ซึ่งเท่ากับงบประมาณภาครัฐจัดสรรไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะไม่ได้ประโยชน์เต็มที่เช่นกัน

แต่หากโน้มเอียงเข้าข้างประชาชน อาจส่งผลทำให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาขาดทุนขึ้นและการจะให้บริการที่มีคุณภาพก็คงเป็นไปได้อย่าง ผลกระทบก็จะเกิดกับประชาชนอีกเช่นกัน และในที่สุดประชาชนจะหันไปเลือกเข้ารับบริการเฉพาะโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ ก่อให้เกิดปัญหาความแออัด ผู้ป่วยล้นบริการอีก หรือหันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนโดยจ่ายค่ารักษาเอง โดยเฉพาะคนชั้นกลางซึ่งจะกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกัน  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การที่ สธ.ยังคงยืน 2 ขา ไม่ว่าอย่างไรผลเสียก็จะตกกับประชาชน และส่งผลต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

“หากเป็นไปได้ สธ.ควรทำหน้าที่ผู้ซื้อบริการแทนประชาชน ทำหน้าที่ดูแลไม่แต่เฉพาะกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ควรดูแลทั้งระบบสุขภาพในภาพรวม พร้อมกันนี้ยังควรทำหน้าที่กำกับตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลให้มีคุณภาพ ทั้งหน่วยบริการของภาครัฐและเอกชน” ดร.วรวรรณ กล่าวและว่า ทั้งนี้เมื่อ สธ.ทำหน้าที่ดูแลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว สปสช. ก็จะต้องเป็นกรมหนึ่งในสังกัด สธ.เท่านั้น

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ระบบที่เป็นอยู่สร้างความพะอืดพะอมให้กับทั้ง สธ. และ สปสช.ที่แยกกันไม่ออก มีการบริหารร่วมกัน ซึ่งหากถามว่าวันนี้ สปสช.จะแยกออกจาก สธ.ได้เลยมั้ย คำตอบคือได้ แต่คงต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งนี้แม้ว่าวันนี้ สปสช.จะบีบ สธ.เพื่อการจัดบริการได้ระดับหนึ่ง แต่ด้วยการเมืองภายใน สธ.ที่แยกเป็นกลุ่มโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่ง สปสช.ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือนี้ด้วย ทำให้ทางการบริหารมีการก้าวก่ายกัน  และเมื่อดูในส่วนของงบประมาณ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปจะดูคนไข้ในเป็นหลัก ขณะที่โรงพยาบาลชุมชนภาระหลักจะเน้นการดูแลผู้ป่วย โดยสองส่วนนี้มีความขัดแย้งมาโดยตลอดและรุนแรงเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากการแย่งงบประมาณกัน

ดร.อัมมาร กล่าวว่า ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ทำให้ สปสช.ต้องกลายเป็นหน่วยงานที่คอยแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับโรงพยาบาลด้วย ทั้งที่ไม่ใช่ปัญหาและหน้าที่ของ สปสช. เพราะบทบาท สปสช.คือต้องดูว่าบริการไหนดีที่สุดสำหรับประชาชน และต้องพร้อมจัดบริการให้ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมถึงโรงเรียนแพทย์ ดังนั้นจึงควรแยกบทบาทให้ชัดเจน โดยให้ สธ.ทำหน้าที่ดูแลและบริหารโรงพยาบาลหรือไม่ต้องเลิกเป็นเจ้าของโรงพยาบาลและโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารแทน และบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแทน กรณีนี้หากเกิดขึ้นจริง สปสช.ก็ควรกลับเข้า สธ.และร่วมเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้สังกัดเพื่อร่วมกันดูภาพใหญ่ในฐานะผู้ซื้อบริการ