ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เร่งขยายหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ ให้ อสม.เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ ดึงความร่วมมือภาครัฐ เอกชน องค์กรด้านสุขภาพ พร้อมผลักดันเป็นนโยบายระดับชาติ เพิ่มความเข้มแข็งการป้องกันโรคอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ รับฟังผลการดำเนินงาน และมอบนโยบายการทำงานแก่ผู้บริหารจากส่วนกลาง และภูมิภาค

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการรับฟังการดำเนินงานของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ประเด็นที่น่าสนใจและจะผลักดันให้ขยายผลทั่วประเทศ คือ “หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ลดโรค มะเร็ง ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด” ซึ่งผลงาน 6 ปี พัฒนาสำเร็จแล้วกว่า 1,500 หมู่บ้านทั่วประเทศ ขณะนี้มีจังหวัดที่มีหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ 2 จังหวัด คือ ร้อยเอ็ดและสุราษฎร์ธานี ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักในการให้ความรู้และขั้นตอนการพัฒนาเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เน้นหลัก 3 อ. 2 ส. ได้แก่ อ. อาหาร ต้องมีแหล่งเรียนรู้การปลูกอาหารและผลิตอาหารในหมู่บ้าน อ.ออกกำลังกาย มีพื้นที่ให้คนในหมู่บ้านออกกำลังกายร่วมกัน อ.อารมณ์ ปรับเปลี่ยนทัศนคติเชิงบวก ส่วน 2 ส. คือ ลดการสูบหรี่ และสุรา โดยเริ่มที่จากงานสังสรรค์ในหมู่บ้าน ปลอดสูบบุหรี่และสุรา โดยบูรณาการความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคประชาชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ องค์กรด้านสุขภาพในพื้นที่ หากดำเนินการได้ทุกพื้นที่ เพิ่มความเข้มแข็งในการป้องกันโรคอย่างยั่งยืนของประชาชน จะทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้น ลดป่วย ลดโรคได้อย่างแน่นอน

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ในการขยายหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพนี้  อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นับเป็นพลังด้านสุขภาพที่สำคัญระดับประเทศ เป็นกลไกหลักในภาคประชาชนที่จะขับเคลื่อนหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้สำเร็จ งานจะขยายก้าวกระโดดรวดเร็วจนครบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ เป็นความท้ายทายที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว และอาจผลักดันเป็นนโยบายการขับเคลื่อนในระดับชาติต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขจะฟื้นฟูงานของศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการย่อยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร ซึ่งขณะนี้ได้ลดจำนวนลงมาก ดำเนินการในพื้นที่สูง รวมทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การดูแลสุขภาพเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ใกล้ที่สุด