ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : ชุมชนยากไร้และด้อยโอกาสในประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางหลายชาติยังคงเผชิญกำแพงหลายชั้นที่ขัดขวางการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมถึงขอบเขตการบริการที่จวนเจียนถึงขีดจำกัด นอกจากนี้สุขภาพของประชาชนในชุมชนด้อยโอกาสยังทับถมด้วยปัญหาการเข้าถึงการขนส่ง น้ำสะอาด ตลอดจนสุขาภิบาลและโภชนาการ จึงจำเป็นที่บริการสาธารณสุขสำหรับกลุ่มรากหญ้าต้องสามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่หลากหลายและซับซ้อนในเวลาเดียวกัน

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนเป็นหนึ่งในกำลังหลักสำหรับการแก้ปัญหาข้างต้น ในแถบตอนล่างของทะเลทรายสะฮารา โดยเฉพาะในประเทศแอฟริกาใต้นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการยกระดับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในชุมชนด้อยโอกาส โดยอาศัยการการเชื่อมโยงระบบสาธารณสุขและชุมชนไว้ด้วยกัน อีกทั้งยังมีศักยภาพในการปรับปรุงการเข้าถึงบริการอื่น เช่น สวัสดิการสังคมและที่อยู่อาศัย ซึ่งอยู่นอกขอบเขตงานบริการสาธารณสุข

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเริ่มบูรณาการการทำงานอย่างเป็นระบบ เครดิตภาพ © 2010 JHHESA/CCP, Courtesy of Photoshar

ประเมินว่าแอฟริกาใต้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนกว่า 65,000 คน คอยให้บริการด้านการดูแลสุขภาพแก่ชุมชนรากหญ้า โดยบริการดังกล่าวรวมไปถึง

ให้คำแนะนำด้านสาธารณสุข

ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและความตระหนักถึงโรคภัยไข้เจ็บ

รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

เชื่อมโยงชุมชนกับทรัพยากรและงานบริการ

ดำเนินงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น รักษาและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวัณโรคและเอชไอวี มาลาเรีย การบำบัดฟื้นฟู ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 

ถึงแม้ข้อมูลจากการศึกษาชี้ให้เห็นศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนต่อการมีส่วนร่วมพัฒนาบริการสาธารณสุข แต่โครงการสาธารณสุขหลายโครงการที่ผ่านมากลับล้มเหลว ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการตั้งความหวังต่อโครงการดังกล่าวในฐานะมาตรการเชิงเดี่ยวเพื่อแก้ไขกลุ่มของปัญหาที่มีความซับซ้อน รวมถึงปัญหาความอ่อนแอในระบบสาธารณสุข อีกทั้งยังเป็นผลมาจากความเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนเป็นทางเลือกที่ประหยัดกว่าสำหรับขับเคลื่อนงานบริการในพื้นที่ขาดแคลน

จุดเด่น-จุดด้อย

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนต้องผจญกับความท้าทายนานับประการ ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อความทั่วถึงของการให้บริการ  

ข้อมูลจากการศึกษาโดยผู้เขียนและคณะได้เปรียบเทียบโครงการสาธารณสุข 3 โครงการในจังหวัดอิสเทิร์นเคป อันเป็นจังหวัดรายได้ต่ำสุดอันดับสอง และจังหวัดเกาเต็งอันเป็นจังหวัดเศรษฐกิจของประเทศแอฟริกาใต้   

ข้อมูลจากการศึกษาในจังหวัดเกาเต็งชี้ว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่ซับซ้อนของภาคครัวเรือน ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถเชื่อมโยงผู้ป่วยกับภาคการบริการสังคมเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือ เนื่องจากขาดเอกสารรับรองเช่น สูติบัตร หรือเอกสารรับรองบุคคล ปัญหาในลักษณะนี้จำเป็นต้องอาศัยทักษะการแก้ปัญหาที่นอกเหนือจากด้านสาธารณสุข ทว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่มีทักษะดังกล่าวเนื่องจากไม่ได้รับการฝึกอบรมหรือขาดที่ปรึกษา

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนประสบปัญหาเดียวกับผู้ป่วย เนื่องจากต่างก็อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ไม่มีค่าเดินทางไปยังหน่วยบริการ (โรงพยาบาล) จึงไม่สามารถเดินทางไปพร้อมกับผู้ป่วยเพื่อช่วยต่อรองเรื่องการรับบริการ โดยส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการที่องค์กรต้นสังกัดให้การสนับสนุนแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนอย่างจำกัดจำเขี่ย

แม้จังหวัดอิสเทิร์นเคปเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในจังหวัดยากจนที่สุดในแอฟริกาใต้ แต่งานสาธารณสุขชุมชนหลายโครงการในจังหวัดนี้ก็มีหลายแง่มุมที่สามารถยกมาเป็นตัวอย่าง ได้แก่

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนได้รับการฝึกอบรมร่วมกับหน่วยงานอื่นนอกเหนือจากสาธารณสุข เช่น ตำรวจ และสวัสดิการสังคม ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจในบทบาทและสามารถดำเนินงานบริการในขอบเขตที่กว้างขึ้น

มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการฝึกอบรมนอกสถานที่ การอบรมในเครือข่ายขนาดเล็ก และจัดตั้งกลุ่มฝึกอบรม

มีแนวทางการให้คำแนะนำที่เน้นการพัฒนาความรู้และทักษะการแก้ปัญหา อันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในชุมชนซึ่งมีทรัพยากรจำกัดและจำเป็นต้องอาศัยการแก้ปัญหาโดยฉีกกรอบเดิม

ค่าเดินทางเพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนสามารถติดตามผู้ป่วยเพื่อช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงบริการ เช่น การเดินทางไปโรงพยาบาลไกลชุมชน หรือลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือ

โทรศัพท์มือถือเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนไม่ขาดการติดต่อกับที่ปรึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการประสานขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาในยามที่การเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ราบรื่น

ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนและฝ่ายบริหารระดับท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนสามารถขอความช่วยเหลือจากสภาการบริหารท้องถิ่น ตลอดจนเครือข่ายสังคมของสภาท้องถิ่น 

อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนในทั้ง 2 จังหวัดต่างต้องผจญกับปัญหาขาดการประสานงานทั้งภายในกระทรวงและระหว่างกระทรวงในทุกระดับชั้น  

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

โครงการสาธารณสุขชุมชนจะสัมฤทธิผลได้ก็ต่อเมื่อสามารถปฏิรูประบบงานสาธารณสุข ซึ่งนั่นก็รวมถึง การปรับปรุงแนวทางฝึกฝนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของปัญหา การสนับสนุนจากต้นสังกัด เช่น การฝึกอบรมต่อเนื่องและการให้คำปรึกษา เช่นเดียวกับการปรับปรุงทรัพยากรซึ่งมักมองข้ามกันเสมอ เช่น การเดินทาง และกลไกสำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชนอันจะมีส่วนส่งเสริมสำนึกในภาระรับผิดชอบ ขณะที่แนวทางพหุภาคีเพื่อยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง

เกี่ยวกับผู้เขียน :

โนห์แลนลา ซูมาโล รองผู้อำนวยการและนักวิจัย ของ The Centre for Health Policy, School of Public Health จาก University of the Witwatersrand

ที่มา : www.theconversation.com