ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักกฎหมายทางการแพทย์ชี้แพทยสภากังวล ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายเกินเหตุ เหตุในร่างกฎหมายใหม่นี้ให้ความเป็นธรรมกับผู้รักษาและผู้ป่วย ระบุการรณรงค์โดยยกมาตรา 5 มาเป็นหัวข้อหลักไม่เอาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่ให้ข้อมูลมาตราอื่นเพิ่ม ทั้งที่มีข้อยกเว้นไว้ในมาตรา 6 แล้ว ชี้ปัญหาฟ้องร้องแพทย์มีไม่มากเมื่อเทียบกับคดีความทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไทย แต่ที่ดูเหมือนมาก เพราะพูดเรื่องเดียวซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ จนทำให้แพทย์กังวลเรื่องการรักษา และจากสถิติฟ้องร้องแพทย์พบว่า 90% เกิดจากการปัญหาการสื่อสาร

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิลาส

ศ.แสวง บุญเฉลิมวิลาส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.......  ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่อยู่ระหว่างการผลักดัน แต่ขณะนี้มีความเห็นที่แตกต่างกันของหลายภาคส่วน เช่น ภาคประชาชน แพทยสภา โดยเฉพาะแพทยสภาถึงกับจัดการณรงค์ไม่ยอมรับร่างกฎหมายนี้ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความเป็นธรรมกับทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการ เพื่อลดความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้รักษาพยาบาล และผู้ป่วย  

ศ.แสวง กล่าวว่า แพทยสภากังวลมากเกินไป จึงรณรงค์โดยใช้มาตรา 5 บุคคลผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และเงินชดเชยจากกองทุนตาม พ.ร.บ. นี้ โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด มาตราเดียวมาเป็นหัวข้อหลักในการรณรงค์ไม่เอาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยไม่ให้ข้อมูลมาตราอื่นเพิ่มเติม ทั้งที่มีข้อยกเว้นไว้ตามมาตรา 6 ที่ระบุว่า ความเสียหายนั้นจะต้องไม่เป็นไปตามปกติธรรมดาของโรค หรือมีการให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือเป็นความเสียหายซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือความเสียหายเมื่อสิ้นสุดกระบวนการรักษาแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ

ในส่วนของการได้รับเงินชดเชยนั้น ตามมาตา 33 กำหนดว่าผู้เสียหายหรือทายาทตกลงยินยอมรับเงินชดเชย ให้ผู้ให้บริการสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจะไปเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกไม่ได้

“ส่วนที่แพทย์บางส่วนเป็นกังวลเรื่องกลัวจะถูกลงโทษทั้งที่ไม่ได้จงใจกระทำให้เกิดความเสียหาย ก็มีมาตรา 45 ที่ระบุว่าในกรณีที่ผู้ให้บริการถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข หากศาลเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ให้ศาลนำข้อเท็จจริงต่างๆ ของจำเลยเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การที่ได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือมีการชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยรับโทษตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควรมาพิจารณาประกอบด้วย ซึ่งศาลอาจจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ลงโทษเลยก็ได้” ศ.แสวง กล่าว

ศ.แสวง กล่าวว่า ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์ ถือว่ามีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับคดีความทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไทย แต่ที่ดูเหมือนมีมากก็เพราะมีการพูดเรื่องเดียวกันซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ เลยทำให้แพทย์รู้สึกกลัวและกังวลที่จะให้การรักษาพยาบาล ในขณะที่กรณีที่มีความผิดพลาดจริง แต่ไม่มีการฟ้องร้องออกสื่อนั้นมีมากกว่ามาก ดังนั้นจึงควรนำกรณีเช่นนี้มาเป็นตัวอย่างว่าทำอย่างไรแม้จะมีความผิดพลาดแต่ไม่มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ทั้งนี้ จากสถิติคดีฟ้องทางการแพทย์กว่า 90% เกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดีระหว่างแพทย์ กับผู้ป่วย หากสามารถแก้ไขเรื่องการสื่อสารระหว่างกัน แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ เอาใจใส่ผู้ป่วยจะไม่มีเรื่องคดีความเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ศ.แสวง กล่าวว่า แพทยสภาจะต้องเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการเข้ามาดูแลเรื่องการฟ้องร้อง และทำให้ประชาชนมั่นใจว่าแพทยสภาอยู่ข้างประชาชน เรื่องการฟ้องร้องจะไม่ไปถึงศาลแน่นอน เช่น กฎหมายของอังกฤษ ระบุไว้ชัดเจนว่าแพทยสภาเป็นสภาวิชาชีพที่เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องประชาชน เมื่อไหร่ก็ตามที่แพทยสภาทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นสภาที่เกิดขึ้นมาเพื่อปกป้องวิชาชีพ เมื่อนั้นจะมีปัญหาทันที

ทั้งนี้ ล่าสุดร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการทบทวน  ซึ่งประเด็นในการทบทวน เช่น โรงพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมจัดตั้งกองทุนหรือไม่ก็ได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลของรัฐนั้นจะต้องเข้าร่วมจัดตั้งกองทุน โดยงบประมาณที่นำมาจัดตั้งกองทุนนั้นจะไม่ได้มาจากแพทย์โดยตรง แต่จะมาจากผู้รับผิดชอบงบประมาณของกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้อง คือ สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จะตัดงบประมาณสนับสนุนจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผู้ประกันตนจะตัดงบประมาณมาจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ส่วนข้าราชการจะตัดงบประมาณมาจากกรมบัญชีกลาง เป็นต้น