ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จี้รัฐตั้งคณะกรรมการ 3 กระทรวง ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ระบุ นโยบายบีโอไอขาดความยืดหยุ่น ทำพัฒนาผิดทิศทาง

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : นายปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย เปิดเผยถึงแนวทางการผลักดันอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐที่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ แต่จะให้ประสบความสำเร็จได้ รัฐจะต้องมีนโยบายส่งเสริมและวางโครงสร้าง หน่วยงานที่สนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างชัดเจน

ขั้นต้นรัฐบาลควรจะต้องคณะกรรมการชุดใหญ่ ที่ประกอบด้วยตัวแทนกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และตัวแทนจากภาคเอกชนที่มาจากโรงงานผู้ผลิต สมาคมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการ และนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯมานั่งเป็นประธานในคณะกรรมการชุดนี้ เพื่อให้การทำงานมีเอกภาพและเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานควรจะแบ่งเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก ควรจะเริ่มสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐานที่มีความจำเป็นของประเทศ เริ่มจากการเรียงลำดับอุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดต่างๆที่จำเป็น ซึ่งอาจจะมีหลายพันรายการ แล้ววางแผนผลิตทดแทนการนำเข้าในอุปกรณ์กลุ่มนี้

ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยอยู่รอดได้ในยามวิกฤต เช่น ภัยสงคราม หรือภาวะฉุกเฉินอื่นๆ ที่ไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ ซึ่งระยะนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี

ระยะที่ 2 การผลิตสินค้าระดับกลาง ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปใส่ในอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน เช่น การผลิตรถเข็น หรือ เตียงผู้ป่วยไฟฟ้า ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือรีโมทคอนโทร เพิ่มความสะดวกสบายให้กับสินค้า และในระยะที่ 3สร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ชนิดใหม่ๆ เพื่อการส่งออก

สำหรับอุปสรรคปัญหาที่มีผลต่อการลงทุนมากที่สุด คือนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้จริง เนื่องจากมีการกำหนดให้ส่งเสริมเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จะต้องเริ่มจากอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งตามข้อกำหนดของบีโอไอ ทำให้อุตสาหกรรมทั้งระบบต้องชะงักงันไป

"นโยบายส่งเสริมการลงทุนควรจะมีความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละบริษัทที่ต่างกันไป ซึ่งการที่บีโอไอกำหนดตายตัวว่าในแต่ละอุตสาหกรรม จะได้รับการยกเว้นภาษีเท่าไร ก็จะทำให้ต่างชาติฉวยโอกาสเสนอมาตรการส่งเสริมฯที่สูงกว่าแย่งชิงการลงทุนไปจากไทย ดังนั้นบีโอไอ ควรจะเจรจารายบริษัทว่าจะส่งเสริมอะไรให้บ้าง เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมที่ตรวจจุด" นายปรีชา กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องออกมาตรการสนับสนุนให้โรงพยาบาลของรัฐ เลือกใช้อุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อสร้างตลาดให้กับ ผู้ผลิต และการให้แต้มต่อ โดยการกำหนดราคากลางรับซื้อสินค้าของไทย สามารถมีราคาสูงกว่าสินค้านำเข้าได้กี่เปอร์เซ็นต์ตามต้นทุนการวิจัย พัฒนา และการผลิต

เพราะว่าในระยะต้นปริมาณการผลิตยังน้อย ทำให้มีต้นทุนสูงกว่าสินค้านำเข้า และหากมีตลาดและผลิตสินค้าได้มากขึ้น ราคาก็จะค่อยๆลดลง จนสามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้ ซึ่งหากสามารถเปิดตลาดภายในประเทศได้ ก็ไม่ยากที่จะส่งเข้าไปขายในตลาดเพื่อนบ้านและอาเซียน

แนวโน้มของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ ในปีนี้ คาดว่าจะมีการนำเข้ากว่า 4 หมื่นล้านบาท และส่งออกประมาณ3.5หมื่นล้านบาท

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 กันยายน 2558