ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ย้อนเวลากลับไปเกือบ 10 ปี ที่มีความพยายามในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขโดยการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกิดขึ้นในประเทศไทย กล่าวคือ นับตั้งแต่มี พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.พ.ศ. 2542 กระทรวงสาธารณสุขได้ทดลองเตรียมการถ่ายโอนสถานีอนามัย 35 แห่งให้แก่ อปท.โดยในปี 2550 สามารถถ่ายโอนสถานีอนามัยได้ 22 แห่ง และต่อมาในปี 2551 ถ่ายโอนสถานีอนามัยได้เพิ่มอีก 6 แห่ง รวมเป็น 28 แห่ง ไม่ครบตามจำนวนสถานีอนามัยที่ตั้งไว้ 35 แห่ง เนื่องจาก อปท.ที่รับการถ่ายโอนสถานีอนามัยต้องผ่านการประเมินความพร้อมตามแนวทางในการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข

สำหรับแนวทางการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาแนวทางการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขโดยกระบวนการมีส่วนร่วม และมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกระดับอย่างกว้างขวาง จนได้แนวทางดำเนินการกระจายอำนาจ 4 ลักษณะได้แก่ อปท.เป็นผู้ซื้อบริการ, อปท.ดำเนินการร่วมกับส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค, อปท.ดำเนินการเองบางส่วน และ อปท.ดำเนินการเองทั้งหมด ตามหลักการมุ่งประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน มีระบบที่ยืดหยุ่น และการมีส่วนร่วม

ขอบเขตของภารกิจที่ถ่ายโอน ประกอบด้วยภารกิจด้านการรักษาพยาบาลสำหรับสุขภาพ การป้องกันโรคและการฟื้นฟูสุขภาพ และภารกิจที่บริการเฉพาะครอบครัว บุคคล หรือชุมชน มีรูปแบบในการถ่ายโอน 4 รูปแบบ คือ ถ่ายโอนแบบแยกส่วน, ถ่ายโอนเป็นเครือข่ายบริการ, จัดตั้งเป็นองค์การมหาชน และจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ

และเพื่อให้การถ่ายโอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความพร้อมและความพึงพอใจของทุกฝ่ายจึงได้กำหนดเงื่อนไข 3 ประการ ได้แก่

เพื่อเป็นหลักประกันว่า อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนมีการดำเนินการด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ จึงถ่ายโอนให้เฉพาะ อปท.ที่ได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดีในปี 2548 หรือ 2549

เพื่อเป็นหลักประกันว่า อปท.ที่ได้รับการถ่ายโอนมีความสนใจในการดำเนินงานด้านสุขภาพจึงถ่ายโอนให้เฉพาะ อปท.ที่ร่วมดำเนินโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล

และเพื่อให้เป็นการดำเนินการที่มีความพร้อมใจของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย จึงกำหนดให้ถ่ายโอนเฉพาะสถานีอนามัยที่เจ้าหน้าที่สมัครใจถ่ายโอนอย่างน้อยร้อยละ 50 ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจริงในสถานีอนามัยแห่งนั้น

สำหรับกระบวนการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีขั้นตอนดังนี้

การพัฒนากลไก กระบวนการ หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินความพร้อมของ อปท.เพื่อรองรับการถ่ายโอน โดยแต่งตั้งอนุกรรมการระดับจังหวัดๆ ละ 3 คณะ

เสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการถ่ายโอนภารกิจเกี่ยวกับสาธารณสุขให้แก่ อปท.พิจารณาเห็นชอบ

เสนอคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

แจ้ง อปท.ให้รับทราบข้อมูลเพื่อรองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัย

อปท.ส่งใบสมัครขอรับการประเมินตามแบบฟอร์ม

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขให้แก่ อปท.พิจารณา และดำเนินการประเมินโดยคณะทำงานประเมินความพร้อมของ อปท.และประเมินผลการดำเนินงานหลังการถ่ายโอน

คณะอนุกรรมการส่งเสริมการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขให้แก่ อปท.รายงานผลเพื่อขออนุมัติต่อส่วนกลาง

กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาอนุมัติ พร้อมมอบอำนาจ

แจ้ง อปท.ที่ได้รับอนุมัติกำหนดวันและดำเนินการมอบโอนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

อปท.ที่ผ่านการประเมินความพร้อมจะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

อปท.ต้องมีประสบการณ์ในการจัดการหรือมีส่วนร่วมในการจัดการด้านสาธารณสุข, มีแผนการเตรียมความพร้อมในการจัดการด้านสาธารณสุขหรือแผนพัฒนาการจัดการด้านสาธารณสุข ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมด้านต่างๆที่เหมาะสมกับระดับ ประเภทและรูปแบบการจัดการสาธารณสุข, สามารถนำเสนอรูปแบบวิธีการบริหารและการจัดการด้านสาธารณสุขได้ และมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการสาธารณสุข ตลอดจนการมีส่วนร่วมจากประชาชนรวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อความพร้อมในการจัดการด้านสาธารณสุขของ อปท.

อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 มี อปท. 173 แห่ง ได้ยื่นคำขอประเมิน อปท.เพื่อรองรับการถ่ายโอนสถานีอนามัย ผลคือมี อปท.ที่ผ่านการประเมิน 35 แห่ง แต่มีเพียง 8 แห่งใน 6 จังหวัดที่พร้อมสำหรับการถ่ายโอนโดยเจ้าหน้าที่สมัครใจถ่ายโอนอย่างน้อย ร้อยละ 50 ของที่ปฏิบัติงานจริง ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการถ่ายโอนจากกระทรวงสาธารณสุข

กล่าวได้ว่า ความล่าช้าและอุปสรรคในการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่ อปท.ที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากทิศทางและนโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเองที่ยังไม่ชัดเจนในแนวทางการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุข ส่งผลให้แผนการกระจายอำนาจด้านสาธารณสุขไปยัง อปท.ไม่คืบหน้าตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี

เก็บความจาก

การกระจายอำนาจด้านสุขภาพ โดย นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ และ เยาวมาลย์ เสือแสงทอง

แหล่งที่มา : นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ (บรรณาธิการ), การสาธารณสุขไทย ๒๕๕๑-๒๕๕๓, สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข, 2554