ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฝาก สธ.ขอให้มีนโยบายใส่ใจหมออนามัยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนในฐานะวิชาชีพที่ 8 ที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ พร้อมเสนอ 8 ข้อแก้ปัญหา ทั้งเรื่องลดนโยบายเหมาโหล จัดเงินป้องกันโรคลง รพ.สต.โดยตรง ไม่ผ่าน รพช. ลดเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพโดยต้องใช้เกณฑ์เดียวกัน ให้ความสำคัญกับ รพ.สต.ชายแดน ทุรกันดาร

นายริซกี สาร๊ะ เลขาชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตนขอเป็นตัวแทนชาว รพ.สต. ฝากให้นโยบายของกระทรวงสาธารณสุขใส่ใจหมออนามัยมากขึ้น  และให้ความสำคัญกับวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ในฐานะวิชาชีพที่ 8 ด้วย ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ “หมออนามัย” ได้ทำงานสนองนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด  ทั้งหมอครอบครัว และ District Health System หรือ DHS ในปัจจุบัน ซึ่งนโยบายหมอครอบครัวนั้น หมออนามัยก็ทำมานานแล้ว เพียงแต่เรียกในชื่อแตกต่างกันไป เช่น ใกล้บ้าน ใกล้ใจ โรงพยาบาลสาธารณสุขยุคใหม่ ใส่ใจประชาชน เป็นต้น หรือในชื่ออื่นๆ โดยมีการลงพื้นที่ ลงชุมชน เยี่ยมบ้าน ประสานภาคีเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง คนพิการ ผู้สูงอายุ และทุกกลุ่มวัยมาตลอด หรือในส่วนนโยบาย DHS ซึ่งเป็นระบบสุขภาพระดับอำเภอ ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จริงคือคนในพื้นที่ระดับชุมชน ตำบล ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการดำเนินงานดังกล่าว

"สำหรับปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ต้องบอกว่า หมออนามัยอยากได้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีนโยบายในเรื่องปฐมภูมิที่เป็นรูปธรรม ให้ความสำคัญกับ รพ.สต. และหมออนามัย ในฐานะชาวสาธารณสุขที่ทำงานด่านหน้า เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง” นายริซกี กล่าวและว่า ทั้งนี้ขอฝากประเด็นสำคัญๆ ดังนี้

1. นโยบาย สธ. ควรมีระบบบริการปฐมภูมิที่เป็นรูปธรรม โดยการกำหนด รพ.สต.ให้มีอยู่ในกฏกระทรวง 

2. ปรับเปลี่ยนนโยบายเกี่ยวกับปฐมภูมิ ที่มักจะเน้นแค่การเปลี่ยนโครงสร้างหรือวัสดุ ครุภัณฑ์ (เน้นของ )

เท่านั้น มาปรับปรุงเรื่องอัตรากำลัง การบรรจุบุคลากรโดยเฉพาะสองสายงาน (นวก./จพ.) การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร และงบประมาณที่เพียงพอ (เน้นคน/เงิน) แก่ รพ.สต.มากขึ้น

3. ลดนโยบายแบบเหมาโหล ที่สั่งการจากเบื้องบน ขาดความเข้าใจบริบทแต่ละพื้นที่ จนปัจจุบันหมออนามัยกลายเป็นหมอหน้าจอ มากกว่าหมอครอบครัว

4. นโยบายด้านปฐมภูมินั้น ต้องเป็นนโยบายที่แก้ปัญหาในการบริหารจัดการของ รพ.สต. โดยการจัดสรรงบประมาณลงรพ.สต.โดยตรง เพื่อลดขั้นตอน และความล่าช้า สามารถจัดการตนเองได้ ลดปัญหาในการดำเนินงานตามนโยบาย ท่ามกลางความขาดแคลนเหมือนปัจจุบัน

5. ลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนที่ต่างกันมาก สาเหตุจากการคิดค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพไม่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน บางวิชาชีพคิดเกณฑ์จากจำนวนประชากร บางวิชาชีพคิดจาก FTE, based job หรือการแบ่งเกณฑ์ระยะเวลาการทำงาน และระดับพื้นที่ความกันดารที่ต่างกันในแต่ละวิชาชีพ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งสูงขึ้นอีก

"ควรเปลี่ยนเกณฑ์การคิดค่าตอบแทนใหม่ โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทุกในวิชาชีพ อื่นจะส่งผลให้ค่าตอบแทนไม่เหลื่อมล้ำจนเกินไป และเสริมรัก ความสามัคคีระหว่างวิชาชีพได้” นายริซกี กล่าว

6. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนของข้าราชการพลเรือน เมื่อเทียบกับข้าราชการอื่นๆ เช่น ครู ทหาร ตำรวจ ซึ่งพบว่า ในระดับเดียวกัน แต่เพดานเงินเดือนมีความแตกต่างกันมาก

ปัจจุบันข้าราชการพลเรือน อยู่ในระดับชำนาญการเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีเงินเดือนใกล้ถึงระดับสูงสุด (ตัน) ตำแหน่งและเงินเดือนก็จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น แต่ข้าราชการสังกัดอื่นๆ เงินเดือนสามารถเลื่อนไหลไปได้ ซึ่งส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับในช่วงทำงานหรือเกษียณในอนาคต ดังนั้น สธ.และ ก.พ.จึงต้องแก้ไขในส่วนนี้ด้วย  

7. ให้ความสำคัญกับ รพ.สต.ในพื้นที่กันดาร ชายแดน หรือชายขอบมากขึ้น

นายริซกี กล่าวว่า ทั้งนี้ดงดอย ชายแดนต่างๆ อย่างอุ้มผาง แม่สอด ชายแดนใต้ ฯลฯ ที่มีความเสี่ยงทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความไม่สงบ แรงงานข้ามชาติ คนไร้สัญชาติ คนสองสัญชาติ ยาเสพติด และทำงานยากลำบากกว่าพื้นที่อื่นๆหลายเท่า แม้ว่าจะมีระเบียบ 2544 ที่กำหนดให้มีค่าตอบแทนที่เบิกได้ไม่เกิน 2 เท่าของค่าตอบแทนในพื้นที่ปกติ โดยให้มีกรรมการระดับเขตพิจารณา แต่ก็ไม่เคยมีการพิจารณาออกมาในเรื่องดังกล่าว ทำให้คนพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวเสียสิทธิที่จะได้รับไป

“เราทำงานในพื้นที่เสี่ยง แต่ สวัสดิการ ขวัญและกำลังใจ กลับยังไปไม่ถึงหมออนามัย ไม่ได้มองระดับพื้นที่ว่าเป็นพื้นที่อย่างไร เกณฑ์ค่าตอบแทนก็แบ่งแค่ระดับ รพช.ทั้งที่ รพ.สต. มีความกันดารมากกว่า รพช. อีก เพราะอยู่ในพื้นที่ไร้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ การสัญจรลำบาก รพ.สต บางพื้นที่ถึงขนาดต้องใช้จักรยานยนต์ลัดเลาะไป โดยช่วงฤดูฝนก็ต้องใช้โซ่พันล้อเนื่องจากถนนชัน และเฉอะแฉะ ถึงจะเข้าไปให้บริการประชาชนได้” นายริซกี กล่าว

8.ให้ความสำคัญวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนนั้น ที่เป็นวิชาชีพที่  8

"ขณะนี้กำลังรอการขับเคลื่อนของสภาการสาธารณสุข หลังชุดบทเฉพาะกาล และเชื่อว่าในอนาคตนักสาธารณสุขชุมชนจะมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการดูแลประชาชนได้ดีขึ้น และสามารถเดินเคียงไปกับวิชาชีพอื่นๆ อย่างมีศักดิ์ศรีมากขึ้นอย่างแน่นอน” นายริซกี กล่าว 

ขอบคุณภาพจาก Facebook/สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข และหมออนามัยขี้เมาท์