ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.มะเร็งชลบุรี สร้างทีมสหวิชาชีพดูแลผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ วางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกัน ฟื้นฟูแก้ไขความพิการ และการรักษาต่อเนื่อง  เป็นแห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข แผลหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยพูดและกลืนได้ทันทีหลังผ่าตัด ทำให้กำลังใจดี ฟื้นตัวเร็ว และออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น ในรอบ 5 ปีผ่าตัดผู้ป่วยโรคนี้ไปแล้ว 141 คน ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

วันนี้ (15 กันยายน 2558) นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นำคณะสื่อมวลชน ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน “พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ” ที่ รพ.มะเร็ง ชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง ดูแลประชาชน 6 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ชลบุรี ระยอง ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ในปี 2556 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มารับบริการ 2,005 คน มากที่สุด 5 อันดับแรก คือมะเร็งเต้านม 487 คน มะเร็งปากมดลูก 257 คน มะเร็งปอด 213 คน มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 147 คน และมะเร็งช่องปาก 138 คน

รพ.มะเร็งชลบุรี เป็น รพ.แห่งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคออย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยและลดความพิการที่เกิดขึ้นหลังการรักษา โดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก อายุรแพทย์เคมีบำบัด แพทย์รังสีรักษา ทันตแพทย์ โภชนากร พยาบาลเฉพาะทาง และนักสังคมสงเคราะห์ วางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยร่วมกัน ตั้งแต่รับผู้ป่วยจนผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยการรักษามีทั้งการผ่าตัด ฉายรังสี เคมีบำบัด ดูแลด้านโภชนาการ ฟื้นฟูแก้ไขความพิการของอวัยวะที่เกิดขึ้น และดูแลด้านจิตใจอย่างครบวงจร  ตั้งแต่เริ่มดำเนินการในปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ผ่าตัดไปแล้ว 141 คน ระยะเวลารอคอยการรักษาประมาณ 1 สัปดาห์ นอนรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ย 14 วัน ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

นพ.กิติศักดิ์ เทพสุวรรณ ผู้อำนวยการ รพ.มะเร็งชลบุรี กล่าวว่า ขั้นตอนในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ มีดังนี้ 1.ก่อนการรักษา แพทย์จะตรวจวินิจฉัยระยะของโรค ทันตแพทย์เตรียมช่องปากและสอนวิธีดูแลสุขภาพช่องปาก เพื่อลดผลแทรกซ้อนหลังการรักษา โภชนากรดูแลป้องกันภาวะขาดสารอาหาร และทีมพยาบาลเฉพาะทางดูแลด้านจิตใจ 2.การผ่าตัด จะทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูกและทันตแพทย์ เนื่องจากในการผ่าตัดเซลล์มะเร็งออก อาจมีการตัดกระดูกกรามบางส่วนออก รวมทั้งเนื้ออวัยวะที่ติดกับเซลล์มะเร็งเกิดรูทะลุที่เพดานปาก จมูก เหงือก โดยทันตแพทย์จะถอนฟันผู้ป่วยออกขณะผ่าตัด ช่วยลดความเจ็บปวดจากการถอนฟันหลายครั้ง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย รายที่ต้องใส่อุปกรณ์พิเศษทางทันตกรรมเพื่อปิดรูทะลุระหว่างรูจมูก ปาก หรือเพดานปากทันที จะทำหลังผ่าตัด ช่วยลดปัญหาแผลอักเสบติดเชื้อ แผลหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยพูดได้ กลืนได้ หลังผ่าตัด ทำให้กำลังใจดี ได้รับการรักษาต่อโดยการฉายแสงเร็วขึ้น และออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น

3.ในระยะฟื้นฟูภายหลังการผ่าตัด หากผู้ป่วยมีปัญหาความพิการที่ใบหน้า จะได้รับการผ่าตัดตกแต่งแก้ไข ในรายที่ผ่าตัดกล่องเสียงออก จะได้รับการดูแลที่คลินิกไร้กล่องเสียง ใส่กล่องเสียงเทียม และฝึกพูด ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหาในช่องปาก อาทิใส่เพดานเทียม และฟันหน้า เพื่อความสวยงาม ดูแลเรื่องการรับประทานอาหารระหว่างรอการฉายรังสีรักษาต่อไป  การเข้าไปมีบทบาทของทันตแพทย์ตั้งแต่เริ่มแรก ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสภาพได้ดีและเร็ว สามารถออกจากโรงพยาบาลได้เร็วขึ้น จึงลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาแบบผู้ป่วยใน ช่วยให้ผู้ป่วยที่รอคิวได้รับการรักษาเร็วขึ้น มะเร็งไม่ลุกลาม การรักษาไม่ซับซ้อน ผลแทรกซ้อนน้อย การฟื้นฟูทำได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นผลดีทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์  

สำหรับโรคมะเร็งศีรษะและลำคอ จะอยู่ในบริเวณช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง และบริเวณโพรงอากาศรอบจมูก แต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ 540,000 คน เสียชีวิต 271,000 คน  สำหรับประเทศไทย พบเป็น 1 ใน 10 ของมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย ประมาณร้อยละ 3-5 ของโรคมะเร็งทุกอวัยวะทั่วร่างกาย ปัจจัยเสี่ยงมาจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การกินอาหารและเครื่องดื่มที่ร้อนเกินไป เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเนื้ออ่อนในปาก ซึ่งหากเกิดการระคายเคืองเรื้อรังจะทำให้เนื้อเยื่อ โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม เพดาน และลำคอเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้สูงอายุ และมักมีโรคที่เกิดจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่ร่วมด้วย การรักษาจึงจำเป็นต้องอาศัยทีมสหวิชาชีพ