ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ประธานที่ปรึกษาสมาคมทันตแพทย์จัดฟันฯ” ยัน “ใส่เพดานเทียมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ แม้จะเป็นเพดานโหว่เพียงด้านเดียว” ช่วยจัดเรียงสันเหงือก ทำให้การเรียงตัวของฟันดีขึ้น ช่วยทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น สวยงามขึ้น ขณะนี้มีความขัดแย้งในความเห็นของแพทย์ที่ให้การรักษาว่าควรใส่เพดานเทียมก่อนการผ่าตัดหรือไม่ เท่าที่ทราบ สปสช.ไม่ได้บังคับให้ใส่ก่อนการผ่าตัด ใครจะทำก็ได้ถ้าเห็นสมควรและคิดว่ามีประโยชน์ต่อผู้ป่วย ระบุทันตแพทย์ทำด้วยจิตอาสา ไม่มีค่าตอบแทนในการทำ แนะ สปสช.ควรรับฟังข้อมูลรอบด้าน ผู้ป่วยควรมีสิทธิ์ในสิ่งที่ควรได้

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจ สาตราวาหะ ประธานที่ปรึกษาสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทย ประธานโครงการทันตกรรมจัดฟันสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ กล่าวถึงกรณีที่มีการเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการใส่เพดานเทียมให้กับผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ด้านเดียวก่อนการผ่าตัด เนื่องจากไม่มีประโยชน์ในการรักษาและสิ้นเปลือง โดยกล่าวว่าถ้าสามารถทำเพดานเทียมให้ผู้ป่วยใส่ได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย แม้ว่าจะมีภาวะเพดานโหว่ด้านเดียวก็ตาม

ทั้งนี้ ประเด็นว่าควรใส่หรือไม่ควรใส่นั้นยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทั่วโลก มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในฐานะที่เป็นทันตแพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิดเห็นว่าการใส่มีประโยชน์ เพราะเพดานเทียมจะช่วยจัดเรียงสันเหงือกมีผลทำให้การเรียงตัวของฟันดีขึ้น ช่วยให้เด็กวางตำแหน่งของลิ้นได้ถูกต้อง ทำให้การพัฒนาการพูดและการดูดกลืนใกล้เคียงปกติ อีกทั้งเพดานเทียมยังเป็นฐานช่วยยึดอุปกรณ์ที่ใช้ปรับโครงสร้างของจมูกไม่ให้บี้แบน รวมทั้งทำให้ช่องโหว่ระหว่างสันเหงือกแคบลง ศัลยแพทย์ตกแต่งริมฝีปากหลายคนบอกว่าทำให้การเย็บแต่งริมฝีปากทำได้ง่ายขึ้น การดึงรั้งเนื้อเยื่อบริเวณที่มีช่องโหว่น้อยลง ทำให้ผลของการผ่าตัดดี สวยงาม ลดปัญหาการผ่าตัดซ้ำ ในส่วนตัวเห็นว่า สปสช.ไม่ได้มีการบังคับให้ทำ ถ้าใครเห็นประโยชน์ก็ทำใครคิดว่าไม่เป็นประโยชน์สามารถใช้วิธีอื่นแทนก็ไม่ต้องทำ อยากให้ สปสช.รับฟังข้อมูลรอบด้าน แต่ไม่ควรไปตัดสิทธิ์ของผู้ป่วย

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจ กล่าวต่อว่า แม้กระทั่งการใส่เพดานเทียมเพื่อช่วยในการดูดนมก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกัน หลายคนบอกว่าไม่จำเป็นเพราะทารกจะปรับตัวได้เหมือนสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆ คือต้องปรับตัว ถ้าปรับไม่ได้ก็อาจอยู่ไม่ได้ ทารกที่เกิดมามีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่น่าสงสารมากเพราะมีความลำบากตั้งแต่แรกเกิด จะดูดนมก็สำลักเพราะช่องโหว่จะทะลุจากช่องปากไปถึงจมูกและหู การที่มีเพดานเทียมสามารถลดการสำลักได้ อีกทั้งเป็นการช่วยผู้ป่วยและครอบครัวทางด้านจิตใจ การที่มีคนสนใจมาดูแลช่วยเหลือนั้นทำให้สภาพจิตใจของคนในครอบครัวดีขึ้นจากสภาพเศร้าโศกเสียใจผิดหวังที่ลูกเกิดมามีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่

ภาวะปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความพิการที่เห็นได้บริเวณใบหน้าและขากรรไกร เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิตในสังคม ในวัยเด็กไปโรงเรียนอาจไม่มีใครอยากเล่นด้วยเพราะใบหน้าไม่เหมือนคนอื่น อาจถูกล้อเลียนทำให้มีปมด้อย ซึ่งอาจมีผลในทางลบต่อตัวเขาเองและสังคมได้ ถ้ามีวิธีใดที่สามารถทำให้ไม่เห็นถึงความผิดปกติ/พิการหรือเห็นแต่น้อยที่สุดแล้วควรจะต้องทำ ถ้าทำได้ดีก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ขณะนี้มีหลายประเทศยังเห็นความจำเป็นในการใช้เพดานเทียมช่วยในการให้การรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจ กล่าวว่า มีผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ไม่น้อยที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษาเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ครอบครัวมีรายได้น้อยและมีถิ่นฐานอยู่ห่างไกลจากศูนย์ปากแหว่งเพดานโหว่  เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้นสมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยและมูลนิธิทันตกรรมจัดฟันแห่งประเทศไทย ได้จัดโครงการเติมเต็มชีวิตให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และจัดทำโครงการทันตกรรมสัญจรเพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษา โดยมีวัตถุประสงค์จะให้เกิดศูนย์รักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ที่สามารถให้การรักษาแบบสหสาขา(Interdisciplinary Treatment) และจะได้นำมาเป็นแบบอย่างเพื่อให้เกิดศูนย์ฯ ลักษณะนี้มากขึ้นในทุกภาคของประเทศไทย โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภากาชาดไทย สปสช. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช.ดูแลด้านสิทธิประโยชน์ในการเข้ารับการรักษาภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการใส่เพดานเทียมด้วย

“ในมุมมองของหมอเห็นว่า การใส่เพดานเทียมมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยแน่นอน รวมทั้งผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่เพียงด้านเดียวด้วย อยากให้สปสช.คงสิทธิประโยชน์นี้ต่อไป"

รศ.(พิเศษ) ทพญ.สมใจ กล่าวว่า ในการใส่เพดานเทียมให้กับผู้ป่วย ทันตแพทย์ที่ทำต้องผ่านการอบรมและฝึกฝนเป็นอย่างดี การทำเพดานเทียมสำหรับคนที่ไม่เคยทำไม่ง่าย เพราะต้องเริ่มจากการพิมพ์ปากในเด็กเล็กๆ ซึ่งยากและมีความเสี่ยงสูง วัสดุพิมพ์ปากอาจหลุดเข้าไปในหลอดลมทำให้ถึงแก่ชีวิตผู้ป่วยได้ เป็นการทำด้วยจิตอาสาอยากช่วยเหลือผู้อื่น ทำเพราะอยากจะช่วยและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผลการรักษาโดยไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง