ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : ข้อมูลจากการศึกษาใหม่ชี้ว่าคอร์รัปชันกำลังเป็นปัญหาในระบบสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้และจำเป็นต้องได้รับแก้ไขอย่างจริงจัง แต่ด้วยรูปแบบของการทุจริตทั้งการใช้ทรัพยากร อำนาจ ตลอดจนเครือข่ายความสัมพันธ์ในทางมิชอบเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวทำให้ยากต่อการตรวจสอบชัดเจน 

แผนการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Plan) ของแอฟริกาใต้เองก็ยอมรับว่า ปัญหาการคอร์รัปชันของประเทศอยู่ในระดับสูง เห็นได้จากเฉพาะในปี 2556 เพียงปีเดียวกระทรวงการคลังจำเป็นต้องอนุมัติเงินกว่า 70 ล้านแรนด์แก่กรรมาธิการบริการสาธารณะในภารกิจ “ต่อต้านคอร์รัปชันและแก้ไขความเดือดร้อน”     

ผู้คนที่กำลังรอเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล Jane Fures ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของแอฟริกาใต้ ภาพประกอบจากสำนักข่าวรอยเตอร์

ผลการศึกษาโดยผู้เขียนและคณะได้ชี้ปัจจัยที่จำเป็นต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในแอฟริกาใต้ ดังนี้

นโยบายที่ชัดเจนสำหรับขับเคลื่อนบริการสาธารณสุขที่ปลอดจากคอร์รัปชัน

รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเพื่อสอดส่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

รายจ่ายด้านสาธารณสุขของแอฟริกามีตัวเลขราวร้อยละ 8 ของจีดีพี  ซึ่งงบประมาณครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้นำไปใช้กับบริการสาธารณสุขเอกชนที่รองรับกลุ่มผู้มีรายได้สูง เป็นผลให้ประชาชนร้อยละ 84 ที่เหลือซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากโรคภัยไข้เจ็บมากกว่าต้องพึงพาบริการของรัฐซึ่งมีทรัพยากรจำกัดจำเขี่ย

ตัวเลขบอกอะไร

การศึกษาโดยผู้เขียนและคณะได้ประเมินข้อมูล 3 ชุด ประกอบด้วย

รายงานโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแอฟริกาใต้ในแต่ละจังหวัดตลอดระยะเวลา 9 ปี

การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างจากผู้ให้ข้อมูลที่คร่ำหวอดในระบบสาธารณสุข  

บทความจากสื่อหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการคอร์รัปชันในระบบสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ตลอดระยะเวลา 3 ปี

จากการตรวจสอบรายงานโดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้พบสัดส่วนรายจ่ายผิดปกติราวร้อยละ 6.3 จากตัวเลขรายจ่ายรวมทุกจังหวัดในปีงบประมาณ 2555-56 โดยรายจ่ายผิดปกติดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องตามระเบียบและข้อบังคับ ซึ่งแม้รายจ่ายดังกล่าวไม่ได้เป็นการคอร์รัปชันโดยตรง แต่ก็อาจใช้เป็นเบาะแสสำหรับตรวจสอบคอร์รัปชัน 

เพราะแม้รายจ่ายผิดปกติหรือไม่เป็นไปตามกระบวนการอาจไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเสมอไป แต่การคอร์รัปชันย่อมต้องเกี่ยวพันกับกิจกรรมที่ไม่ดำเนินไปตามปกติหรือตามกระบวนการเสมอ

ข้อมูลจากการศึกษายังพบรายจ่ายผิดปกติหลายรูปแบบในทั้ง 9 จังหวัด ในจังหวัดเกาเต็งพบว่า รายจ่ายผิดปกติระหว่างปี 2552 และ 2555 มีจำนวนราว 533 ล้านดอลลาร์ และแม้สัดส่วนรายจ่ายผิดปกติในรายจ่ายสาธารณสุขสุทธิ ลดลงจากร้อยละ 11 ในปีงบประมาณ 2553-2554 เป็นร้อยละ 4.8 ในปีงบประมาณ 2554-2555 แต่ตัวเลขก็กลับมาสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.1 ในปีงบประมาณ 2555-2556         

 อีกด้านหนึ่งในจังหวัดควาซูลูนาทาลพบว่า สัดส่วนรายจ่ายผิดปกติในรายจ่ายสาธารณสุขสุทธิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 4 ปี  ซึ่งความแตกต่างระหว่างรายจ่ายผิดปกติในทั้งเก้าจังหวัดดังกล่าวอาจเป็นผลมาจาก

รูปแบบการบริหารในแต่ละจังหวัด

การจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ

ขาดการบังคับใช้กฎหมาย

ข้อจำกัดด้านศักยภาพและความแตกต่างด้านทักษะในแต่ละจังหวัด

การบรรจุเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานฝ่ายบริหารของจังหวัด

มองในภาพกว้าง

ผู้ให้ข้อมูลในการศึกษาได้คัดเลือกจากรัฐบาล ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนนอกภาครัฐ ซึ่งล้วนดำรงตำแหน่งในระดับอาวุโส มีความรู้ความชำนาญ และมีบทบาทในระบบสาธารณสุขมาเป็นระยะเวลานาน โดยผู้ให้ข้อมูลเชื่อตรงกันว่า ระบบสาธารณสุขแอฟริกาใต้มีปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐและเอกชน และทุกคนต่างมีประสบการณ์ตรงจากการได้ยินเรื่องราวหรือต้องรับมือกับปัญหาคอร์รัปชันในช่วง 1 ปีก่อนเริ่มการศึกษา และผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่มองว่า ปัญหาคอร์รัปชันได้ลุกลามไปถึงระดับที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสาธารณสุขภาครัฐ

อีกด้านหนึ่งพบว่า กว่าร้อยละ 60 ของบทความหนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันเจาะจงไปที่การสาธารณสุขภาครัฐและฝ่ายบริหารงานสาธารณสุขระดับจังหวัด และกว่าครึ่งของรายงานการคอร์รัปชันอ้างถึงการทุจริตในจังหวัดอิสเทิร์นเคป ตามมาด้วยจังหวัดเกาเต็ง ลิมโปโป และควาซูลูนาทาล

แผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

ในการแก้ไขปัญหาทุจริตนั้น มักเสนอแนะให้เพิ่มข้อบังคับควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ดีแอฟริกาใต้ไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายเพิ่มอีกแล้ว เนื่องจากมีความพร้อมสรรพทั้งสถาบันที่มีอำนาจเต็ม กฎหมาย ตลอดจนระเบียบและกระบวนการที่ละเอียดเป็นแบบแผน นอกเหนือจากคำสั่งของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ให้ปรับปรุงสำนึกในหน้าที่และธรรมมาภิบาลในภาครัฐแล้ว ก็ยังมีกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการบริการสาธารณะและการคลังสาธารณะ ซึ่งล้วนมีเป้าหมายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของลูกจ้างภาครัฐและบริหารทรัพยากรสาธารณะ

สิ่งที่จำเป็นในขณะนี้จึงอยู่ที่การดำเนินมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันในฐานะมาตรการเร่งด่วนตามที่พบปัญหารายจ่ายผิดปกติในหน่วยงานสาธารณสุขของทั้ง 9 จังหวัด

ผลลัพธ์การตรวจสอบรายจ่ายหน่วยงานสาธารณสุขระดับจังหวัดที่ตกต่ำลงกว่าเดิม

วิกฤติประสิทธิภาพการบริหารจัดการและขาดจิตสำนึกในระบบสาธารณสุข

ในการผลักดันการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันนั้นจำเป็นที่แผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ต้องรับประกันได้ว่าพนักงานของรัฐมีทักษะ จริยธรรม และค่านิยมที่ถูกต้อง ตลอดจนจะต้องมีความสนใจที่สอดคล้องกับเป้าประสงค์ขององค์กร อีกด้านหนึ่งก็จำเป็นต้องมีระบบที่รัดกุมสำหรับตรวจสอบการคอร์รัปชันและลงโทษพฤติกรรมไม่เหมาะสม ผิดกฎหมาย หรือทุจริต  

ขณะที่ผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐจะต้องมีอำนาจเพียงพอที่จะป้องกันและลงโทษการทุจริต ซึ่งจะต้องมีศักยภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

การมีส่วนร่วมของพลเมืองเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่จะลืมเสียมิได้ โดยระบบควรดำเนินไปในทางที่พลเมืองสามารถมีสิทธิมีเสียงในระบบสาธารณสุข รวมถึงคอยสอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ทั้งในระดับทางการ ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมาธิการภาคประชาชนในสภาระดับประเทศและสภาจังหวัด กรรมการบอร์ดโรงพยาบาล และกรรมการคลินิก      และระดับไม่เป็นทางการในรูปของแนวร่วมภาคประชาชน ดังเช่นแนวร่วมคอร์รัปชันวอทช์ของแอฟริกาใต้ซึ่งเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการเรียกร้องต่อต้านคอร์รัปชัน สอดคล้องกับประสบการณ์ในหลายประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับคอร์รัปชันผ่านการติดตามการใช้งบประมาณและสอดส่องการให้บริการ  

เกี่ยวกับผู้เขียน :

- ลาติเทีย ริสเพล ผู้บริหาร The School of Public Health จาก University of the Witwatersrand

- ปีเตอร์ เดอ เจเกอร์ อาจารย์กิตติมศักดิ์ จากThe School of Public Health, University of the Witwatersrand

- ชารอน ฟอนน์ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข ผู้อำนวยการร่วมในโครงการฝึกอบรมการวิจัยขั้นสูงในแอฟริกา, และเป็นสมาชิกของ Private Healthcare Market Inquiry ที่ University of the Witwatersrand

ที่มา : www.theconversation.com