ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้ป่วยกังขา คำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ ระบุมีหลายข้อแทนที่จะคุ้มครอง แต่กลับดูเหมือนจำกัดสิทธิ ทั้งยังเพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ที่หลายข้อขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย ยืนยันคำประกาศสิทธิผู้ป่วยต้องให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมด้วย แต่คำประกาศฉบับใหม่นี้กลับไม่มีกระบวนการดังหล่าว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว

นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายภาคีวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ประกาศคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยได้ประโยชน์สูงสุดจากการรักษาพยาบาลนั้น กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมทั้งองค์กรเอกชนด้านเอดส์และสุขภาพ ต่างมีข้อกังขาต่อคำประกาศสิทธิผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติที่ประกาศใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตว่า คำประกาศใหม่ได้อ้างถึงการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่กลับพ่วงข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย โดยมีหลายข้อแทนที่จะคุ้มครองกลับดูเหมือนจำกัดสิทธิมากกว่า

“หากอ่านกันดีๆ จะพบว่าคำประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับใหม่ ที่เพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยขึ้นมา มีหลายข้อที่มีความไม่ชัดเจนและขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วยในประกาศ เช่น กรณีสิทธิในการได้รับการปกปิดข้อมูล แม้ระบุว่าจะได้รับการปกปิดข้อมูล แต่ในข้อพึงปฏิบัติกลับบอกว่าผู้ป่วยต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่อแพทย์ ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นเหตุให้มีการบังคับทางอ้อมให้ผู้ป่วยต้องเปิดเผยข้อมูลความลับ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น”

ข้อสังเกตอีกเรื่องคือการเพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยขึ้นมา หลายข้อมีความขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วย รวมทั้งยังอาจตีความข้อพึงปฏิบัติได้ว่า หากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามจะด้วยเหตุอันใดก็ตามแต่ และหากเกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ขึ้น ผู้ให้บริการทั้งแพทย์และโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะได้แจ้งไว้แล้วในข้อพึงปฏิบัติ

นายอภิวัฒน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในคำประกาศใหม่นี้มีการระบุให้ผู้ป่วยพึงทราบว่า “การรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ เหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้จะทำด้วยความระมัดระวังแล้ว” หากอ่านกันดีๆ จะเห็นความหมายที่อยู่ระหว่างบรรทัดที่น่ากังขา เช่นหากเกิดความผิดพลาดเสียหายจริง จะหมายความว่าผู้ให้บริการทางการแพทย์ย่อมไม่ต้องรับผิดชอบเพราะได้แจ้งให้ทราบไว้แล้วหรือ อ่านอย่างไรก็ทำให้รู้สึกได้ว่า สภาวิชาชีพที่ออกประกาศนี้ไม่ได้มุ่งหวังคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยอย่างแท้จริง แต่ทำเพื่อปกป้องกันเองเท่านั้นหรือไม่

นายธนพล ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต กล่าวว่า การประกาศสิทธิผู้ป่วยที่มีการเพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยออกมาด้วยนั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการให้ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายผู้รับบริการหรือผู้ป่วยและฝ่ายผู้ให้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นต่อคำประกาศนั้นๆ แต่คำประกาศฉบับใหม่นี้กลับออกมาโดยไม่มีกระบวนการดังกล่าวเลย

“จริงๆ การทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย แต่กลับสร้างความขัดแย้งให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับระบบสุขภาพไทย”

นายธนพล กล่าวว่า เครือข่ายผู้ป่วยและองค์กรภาคี อยากเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้ทบทวนกระบวนการและเนื้อหาในคำประกาศดังกล่าว ให้มีความชัดเจน ลดข้อกังขา รวมทั้งควรมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ที่สำคัญต้องสร้างความมั่นใจต่อประชาชนได้ว่า คำประกาศนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยจริง โดยทางเครือข่ายฯจะมีการทำจดหมายอย่างเป็นทางการส่งถึงผู้เกี่ยวข้องต่อไป