ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หัวหน้างานกายอุปกรณ์ รพ.สมุทรปราการ” เจ๋ง ประดิษฐ “รถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าราคาถูก” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและผู้พิการ ต้นทุนผลิตเพียงแค่ 20,000 บาทต่อคัน ถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศถึง 5 เท่า เผยแนวคิดรถต้นแบบมุ่งประดิษฐ์เพื่อแม่ จนขยายผลิตให้กับผู้พิการแล้ว 30-40 คัน พร้อมจับมือ สปสช. ถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตไปยัง 12 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อคนพิการเข้าถึง แถมยังรองรับสังคมผู้สูงอายุ ชี้ปัจจุบันผู้พิการ ท.74 ภูมิลำเนา จ.สมุทรปราการ ได้รับฟรี เหตุกองทุนท้องถิ่นหนุนงบต่อยอดให้เป็นรถผู้พิการระบบไฟฟ้า   

หม่อมหลวงสกุล มาลากุล หัวหน้างานกายอุปกรณ์ โรงพยาบาลสมุทรปราการ กล่าวถึงนวัตกรรม “รถนั่งคนพิการระบบไฟฟ้า” ซึ่งนำเข้าร่วมแสดงผลงานในงาน “มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมทางการแพทย์” ที่ผ่านมา ว่า ที่มาที่ไปของการประดิษฐ์รถนั่งคนพิการระบบไฟฟ้านี้ เนื่องจากตนเองมีคุณแม่อายุ 93 ปี ที่ต้องดูแล ประกอบกับในชีวิตรับราชการในฐานะช่างกายอุปกรณ์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลคนพิการอยู่แล้ว จึงได้เห็นความจำเป็นการอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ และที่ผ่านมาแม้ว่าผู้สูงอายุและคนพิการส่วนใหญ่จะมีรถเข็นนั่งอยู่แล้ว แต่มีปัญหาอุปสรรคเพราะการบังคับและขับเคลื่อนรถเข็นต้องใช้กำลังค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สามารถใช้งานรถเข็นได้เท่าที่ควร ดังนั้นจึงได้มีความคิดด้วยการนำมอเตอร์ที่ให้พลังงานน้อยๆ มาดัดแปลงและพัฒนาเพื่อให้รถนั่งผู้พิการเคลื่อนไหวได้ง่าย จนนำมาสู่รถนั่งคนพิการระบบไฟฟ้าต้นแบบคันแรก ซึ่งต้องบอกว่าเริ่มต้นเป็นการทำเพื่อแม่ก่อนที่จะขยายสู่สังคม    

หม่อมหลวงสกุล กล่าวว่า จากรถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าคันแรกซึ่งทำได้เพียงแค่การเดินหน้า แต่หลังจาก 3 ปีที่ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุและผู้พิการมากที่สุด วันนี้รถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าไม่เพียงแต่เดินหน้าถอยหลังได้เท่านั้น แต่ยังสามารถขึ้นพื้นที่สูงต่างระดับได้ถึง 30 องศา จากที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงแค่ 12 องศาเท่านั้น แถมการบังคับขับเคลื่อนยังทำได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีระบบความปลอดภัยกรณีที่รถขึ้นสู่ทางลาดเอียง ที่แม้จะหยุดกลางทางรถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าที่ออกแบบนี้จะล๊อกโดยอัตโนมัติทำให้รถไม่ไหล ซ้ำรถในการขับเคลื่อนยังมีความหน่วงในตัวรถทำให้ไม่ไหลลื่นและยังมีระบบตัดไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ทำให้รถนั่งผู้พิการคันนี้มีความปลอดภัยในการใช้งาน  

หม่อมหลวงสกุล กล่าวว่า เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเข้าถึงรถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้ามากที่สุด รวมถึงหลักการที่เน้นการพึ่งพาตนเอง ดังนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบรถเข็นผู้พิการระบบไฟฟ้านี้ส่วนใหญ่ซื้อจากตลาดนัดคลองถม ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ แผงวงจรควบคุม มอเตอร์ และที่ชาร์ตไฟฟ้า โดยนำมาใช้ดัดแปลง ประกอบกับการเป็นนักกายอุปกรณ์มาตลอด 30 ปี ทำให้ทราบว่าอุปกรณ์ชิ้นใดที่สามารถนำมาใช้และปลอดภัยกับผู้สูงอายุและผู้พิการ ด้วยเหตุนี้ทำให้รถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าที่ทำขึ้มีราคาเพียง 20,000 บาทต่อคันเท่านั้น ราคาถูกกว่ารถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายเท่า โดยหากเป็นรถผู้พิการระบบไฟฟ้าที่นำเข้าจากประเทศจีนจะอยู่ที่ราคา 80,000 บาทต่อคัน แต่หากนำเข้าจากประเทศยุโรปจะอยู่ที่ราคา 120,000 บาทต่อคัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุและผู้พิการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ช่วยความพิการนี้

ทั้งนี้กรณีที่มีรถนั่งผู้พิการอยู่แล้ว กลุ่มงานกายอุปกรณ์ รพ.สมุทรปราการยินดีที่จะติดตั้งมอเตอร์และกลไกขับเคลื่อนให้โดยเสียค่าอุปกรณ์และการติดตั้งเพียง 14,000 บาทเท่านั้น ถือว่าเป็นราคาที่ต่ำมาก

หม่อมหลวงสกุล กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อคนพิการ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้สิทธิประโยชน์ในการเบิกจ่ายรถนั่งผู้พิการอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนของจังหวัดสมุทรปราการภายใต้กองทุนท้องถิ่นได้สนับสนุนการติดกลไกเพื่อขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าให้กับรถนั่งผู้พิการเพิ่มเติม ทำให้ผู้สูงอายุและผู้พิการที่ทะเบียนผู้พิการ ท.74 ที่มีภูมิลำเนาใน จ.สมุทรปราการได้รับรถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้ามูลค่า 20,000 บาทฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ  ทั้งสิ้น นับเป็นประโยชน์กับผู้พิการอย่างมาก ขณะที่ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการสนับสนุนเพิ่มเติมเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมากองกายอุปกรณ์ รพ.สมุทรปราการได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วให้กับหน่วยบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตระยะ 8 จังหวัด และขณะนี้ได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตให้ครบ 12 เขตพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้พิการเข้าถึงรถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าอย่างทั่วถึง

“รถนั่งผู้พิการระบบไฟฟ้าที่คิดค้นนี้เน้นที่ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยใช้วัสดุราคาถูกมาปรับใช้ เพื่อเน้นให้ผู้พิการเข้าถึงรถเข็นระบบไฟฟ้าได้ ซึ่งในงบประมาณจัดซื้อ 1 ล้านบาท หากจัดซื้อรถผู้พิการระบบไฟฟ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศจะได้ประมาณ 10 คันเท่านั้น แต่หากเป็นรถนั่งผู้พิการะบบไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นนี้จะจัดซื้อได้ถึง 50 คัน ที่ผ่านมาได้ผลิตและให้บริการไปแล้ว 30-40 คัน และปีนี้ตั้งใจจะผลิตให้ได้ 60 คัน ทั้งนี้งานประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นนี้ เนื่องจากไม่ได้มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จึงพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยผู้พิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” หัวหน้างานกายอุปกรณ์ รพ.สมุทรปราการ กล่าวและว่า เบื้องต้นในการผลิตเป็นการเน้นเพื่อให้รถขับเคลื่อนได้และมีราคาถูกเพื่อให้ผู้พิการเข้าถึงก่อน ในการขับเคลื่อนรถนั่งผู้พิการจึงยังมีเสียงมอเตอร์ที่ดัง แต่หลังจากนี้จะทำการต่อยอดเพื่อให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง