ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : สงครามและโรคภัยไข้เจ็บเดินเคียงบ่าเคียงไหล่มาหลายศตวรรษ สงครามนั้นนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรซึ่งจะยิ่งกระพือการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรค เพราะการอพยพข้ามพรมแดนเป็นกลุ่มใหญ่จะเป็นการนำโรคไปสู่ถิ่นอื่นหรือทำให้สัมผัสกับโรคต่างถิ่น และโดยมากผู้อพยพก็มักเบียดเสียดกันหลบหนีและอยู่ในสภาพแวดล้อมอันแร้นแค้นซึ่งจะยิ่งเปิดโอกาสให้โรคแพร่ระบาดได้ง่าย

ความจำเป็นทางการทหาร ผลักดันให้เกิดการพัฒนาวัคซีนซึ่งเราก็ยังคงใช้กันอยู่ในทุกวันนี้ ภาพการยกพลขึ้นบกของกองทัพสหรัฐอเมริกา จาก www.shutterstock.com.   

การเสียชีวิตของทหารในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองส่วนใหญ่เกิดจากโรคระบาดมากกว่าการบาดเจ็บจากสนามรบ  โดยอัตราส่วนการตายระหว่างการติดโรคและการตายในสนามรบอยู่ที่ราว 5 ต่อ 1 ในสงครามระหว่างสเปน-สหรัฐ และ 2 ต่อ 1 ในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐ และแม้การปรับปรุงสุขอนามัยทำให้อัตราตายจากโรคระบาดลดลงในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องทหารจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี ค.ศ.1918 (พ.ศ. 2461) ตามที่พบว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุการตายราวครึ่งหนึ่งของกำลังพลสหรัฐในยุโรป

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในยุโรป กองทัพสหรัฐก็ตระหนักว่าโรคระบาดเป็นศัตรูอันร้ายกาจเช่นเดียวกับกองทัพฝ่ายตรงข้าม กองทัพสหรัฐจึงจับมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาวัคซีนสำหรับกำลังพล ซึ่งการที่กองทัพสหรัฐให้ความสนใจต่อวัคซีนก็ด้วยเหตุผลที่สามารถลดจำนวนวันที่กำลังพลมีอาการป่วยได้ดีกว่าแนวทางการรักษาส่วนใหญ่  

ความร่วมมือดังกล่าวก่อให้เกิดนวัตกรรมในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและยืนยงจนถึงหลังสิ้นสุดสงคราม แต่เมื่อเอกชนและสถาบันการศึกษาจับมือพัฒนาวัคซีนร่วมกับรัฐบาล ก็ได้ตระหนักว่าอุปสรรคหลายประการที่คอยขัดขวางความก้าวหน้านั้นไม่ได้เป็นผลจากข้อจำกัดด้านวิทยาการหากแต่เป็นปัญหาด้านองค์กร

สงครามโลกครั้งที่สองเร่งรัดพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ความหวั่นเกรงต่อการระบาดซ้ำของโรคไข้หวัดใหญ่ในขณะที่เตรียมตัวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ผลักดันให้กองทัพบกสหรัฐฯ จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1941 (พ.ศ.2484) โดยมีสถานะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายโครงการพัฒนาวัคซีนของรัฐบาลกลาง โครงการพัฒนาวัคซีนดังกล่าวประกอบขึ้นจากผู้เชี่ยวชาญระดับหัวกะทิจากมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการสาธารณสุข และมูลนิธิเอกชนเพื่อดำเนินการสำรวจทางระบาดวิทยาและป้องกันโรคระบาดสำหรับภารกิจด้านกลาโหม

การระบาดของไข้หวัดในปี ค.ศ.1918 (พ.ศ. 2461) ได้คร่าชีวิตของกำลังพลสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 1 ภาพประกอบจาก Wikimedia Commons

โครงการพัฒนาวัคซีนในภาวะสงครามได้ขยายขอบเขตงานวัคซีนของกองทัพไปไกลกว่าโรคบิด ไข้รากสาดใหญ่ และซิฟิลิสอันเป็นเป้าหมายแต่เดิม โดยโครงการวิจัยวัคซีนใหม่นี้ได้พุ่งเป้าไปที่ไข้หวัดใหญ่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย ปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หัด คางทูม โรคระบบประสาท โรคเขตร้อน และโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ซึ่งโรคที่กล่าวมาอาจส่งผลกระทบทั้งต่อความพร้อมของกองทัพและสุขภาพของพลเรือน       

อย่างไรก็ดีโครงการในลักษณะนี้ไม่ถือเป็นชัยชนะของอัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์ หากแต่เป็นความสำเร็จตามเป้าหมายและประสิทธิภาพขององค์กร เพราะแม้ว่านักวิจัยได้วางพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว (รวมถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่) มาแล้วล่วงหน้าหลายปี แต่ก็ต้องรอจนถึงสงครามโลกครั้งที่สองกว่าที่จะนำแนวคิดในห้องปฏิบัติการมาต่อยอดสู่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

คณะกรรมการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ระดมความรู้ในกระบวนการแยก เพาะ และนำเชื้อไข้หวัดใหญ่มาสกัดบริสุทธิ์    รวมทั้งเดินหน้าโครงการวัคซีนอย่างรวดเร็วด้วยการผลิตเป็นจำนวนมาก และการประเมินความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีน โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่คณะกรรมการพัฒนาขึ้นภายใต้การนำของ นพ.โธมัส ฟรานซิส จูเนียร์ นักไวรัสวิทยาสามารถผ่านการอนุมัติจากเอฟดีเอสหรัฐฯ ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี และนับเป็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตัวแรกที่ผ่านการรับรองในสหรัฐฯ และถือว่ารวดเร็วอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับการพัฒนาวัคซีนใหม่ในปัจจุบันซึ่งกินเวลาเฉลี่ย 8-15 ปี   

โครงการพัฒนาวัคซีนในภาวะสงครามได้ขยายขอบเขตงานวัคซีนของกองทัพไปไกลกว่าโรคซิฟิลิสอันเป็นเป้าหมายแต่เดิม  ข้อมูลจาก US National Library of Medicine ภาพประกอบจาก Wikimedia Commons

แม้กองทัพบกสหรัฐฯ พบในภายหลังว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงทุกปีให้สอดคล้องกับสายพันธ์ของไวรัสที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด กระนั้นระยะเวลาอันสั้นนับตั้งแต่ขั้นตอนการพัฒนาจนถึงสามารถนำมาใช้จริงดังกล่าวก็ยังคงนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ

วัคซีนเพื่อภารกิจด้านกลาโหม 

โครงการวัคซีนในช่วงภาวะสงคราม (เช่น คณะกรรมการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่) ได้พัฒนาหรือปรับปรุงวัคซีนป้องกันโรคในภารกิจด้านกลาโหมรวมทั้งสิ้น 10 ตัว โดยที่วัคซีนบางตัวสำเร็จทันตามเป้าหมายของปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น วัคซีนโบทูลินัมท็อกซอยด์ซึ่งผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากก่อนหน้าวันยกพลขึ้นบก ตามที่ข่าวกรองแจ้งว่าเยอรมนีได้บรรจุเชื้อก่อโรคโบทูลิซึมไว้ในระเบิดวี-1 หรือวัคซีนไข้สมองอักเสบญี่ปุ่นซึ่งผลิตขึ้นเพื่อรองรับภารกิจบุกญี่ปุ่นทางภาคพื้นดินของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร  

วัคซีนบางตัวที่พัฒนาขึ้นในช่วงสงครามไม่มีคุณภาพดีพอหากเทียบตามมาตรฐานปัจจุบัน และอันที่จริงแล้วบางตัวก็อาจถึงขั้นไม่ผ่านการรับรองของเอฟดีเอเสียด้วยซ้ำ แต่วัคซีนดังกล่าวก็ได้ผลดีและสามารถผลิตได้ทันเวลา

พัฒนาวัคซีนหลายตัวในระยะอันสั้น...ทำได้อย่างไร ?

การที่นักวิจัยมักดำเนินการศึกษาที่สถาบันต้นสังกัด เป็นการเปิดช่องให้กองทัพสามารถเข้าถึงความชำนาญและเครื่องมือวิจัยของฝ่ายพลเรือน ขณะที่รัฐบาลเองก็บีบด้วยสัญญาที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายการวิจัยและค่าใช้จ่ายทางอ้อมแต่ไม่ครอบคลุมถึงผลกำไร ภายใต้สถานการณ์ปกติมหาวิทยาลัยก็น่าจะปฏิเสธเงื่อนไขในลักษณะนี้แต่ด้วยภัยคุกคามจากสงครามทำให้เสียงคัดค้านอ่อนลง     

ภาพการบรรจุวัคซีนป้องกันโรคไข้รากสาดใหญ่ให้พร้อมสำหรับการจัดส่ง ซึ่งในขณะนั้นมีวัคซีนเพียงพอสำหรับเมืองที่มีขนาดประชากรราว 15,000 คน ภาพ USPHS (United States Public Health Service) Rocky Mountain Laboratory, Hamilton, Montana US Public Health Service  จาก  Library of Congress

อีกด้านหนึ่งภาคเอกชนก็เริ่มโครงการวิจัยซึ่งแทบไม่ทำกำไรหรือไม่มีกำไรเลย การที่วัคซีนมีสถานะเป็นองค์ประกอบสำคัญในภารกิจสงครามทำให้การมีส่วนร่วมพัฒนาวัคซีนถือเป็นหน้าที่สาธารณะ ซึ่งด้วยความร่วมมืออย่างเต็มที่จากภาคเอกชนดังกล่าวทำให้โครงการวัคซีนในภาวะสงครามสามารถจัดตั้งรูปแบบการวิจัยที่สามารถแปรผลลัพธ์จากห้องปฏิบัติการสู่ผลิตภัณฑ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงสงครามนั้นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในแง่การแบ่งปันข้อมูลไม่ได้เข้มงวดเหมือนในปัจจุบัน เมื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกคณะวิจัยจึงสามารถรวบรวมและนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อประกอบกับการหยิบยืมเทคนิคการจัดการจากภาคเอกชนก็ช่วยให้ นพ.ฟราสซิสในฐานะประธานกรรมการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่และคณะผู้บริหารโครงการสามารถบริหารโครงการแบบบนลงล่าง ตลอดจนโยกย้ายบุคลากร ทรัพยากร และแนวคิดไปยังโครงการที่เหมาะสมที่สุด นอกจากนี้ผู้บริหารโครงการยังอาศัยหลักการบริหารแบบบูรณาการเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความเข้าใจคุณสมบัติทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำของวัคซีนทดลอง

ร่วมมือกันเพื่อจิตสาธารณะ

การร่วมมือด้วยถือเป็นหน้าที่ในการพัฒนาวัคซีน และยังคงอยู่มาถึงยุคหลังสงครามแม้สิ้นสุดภาวะเร่งด่วนและสลายโครงสร้างโครงการในยุคสงครามไปแล้ว จึงเป็นผลให้สามารถพัฒนาวัคซีนใหม่ได้เป็นจำนวนมากในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โดย ดร.ดอน เมตซ์การ์ นักไวรัสวิทยาซึ่งคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมวัคซีนมาตั้งแต่คริสตทศวรรษที่ 60 เปิดเผยกับผู้เขียนระหว่างการสัมภาษณ์ว่า “บริษัทยามองแผนกวัคซีนเป็นบริการสาธารณะไม่ใช่ในฐานะกลไกสร้างรายได้ใหญ่โต”

เดิมทีภาคเอกชนมักให้ความร่วมมือด้วยดีเมื่อกองทัพเรียกร้องวัคซีนที่ใช้กันน้อย เช่น วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่นและอะดิโนไวรัส แต่ความผันเปลี่ยนด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และการเมืองในช่วงคริศตทศวรรษที่ 70 และ 80 ทำให้ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกองทัพและเอกชนเปลี่ยนไป เมื่อปราศจากความร่วมมือจากภาคเอกชนก็ทำให้โครงการพัฒนาวัคซีนใหม่หยุดอยู่กับที่ ขณะที่วัคซีนบางตัวก็ถึงกับเลิกผลิตไปเลย

การพัฒนาวัคซีนอย่างทันท่วงทีมีความจำเป็นเสมอไม่ว่าในภาวะสงครามหรือสันติ เนื่องจากโรคอุบัติใหม่และมีศักยภาพที่จะแพร่ระบาดในวงกว้างนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำ ดังเช่น โรคซาร์สในปี ค.ศ.2003 (พ.ศ.2546) ไข้หวัดนกในปี ค.ศ.2005 (พ.ศ.2548) ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) และอีโบลาในปี ค.ศ.2014 (พ.ศ.2557) ซึ่งสะท้อนว่าขีดความสามารถของการพัฒนาวัคซีนในปัจจุบันยังก้าวตามไม่ทัน และแม้อุปสรรคด้านวิทยาการอาจเป็นสาเหตุให้เรายังคงต้องฝ่าพันกับการพัฒนาวัคซีนสำหรับวัณโรค มาลาเรีย และเอชไอวี แต่วัคซีนหลายตัวก็ห่างหายไปจากกระบวนการผลิตด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาการ

การระดมทรัพยากรส่วนกลางในปริมาณมากดังเช่นที่เราเคยทำในช่วงคริศตทศวรรษที่ 40 แม้ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนแต่ก็น่าที่จะดำเนินรอยตาม ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนก็ได้แสดงให้เห็นแล้วถึงความพร้อมที่จะร่วมมือเพื่อจิตสาธารณะเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ เช่น การระบาดของอีโบลาในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก แม้ว่าวัคซีนไม่ได้สร้างกำไรมากมาย   

ท้ายนี้ผู้เขียนเห็นว่า เราจำเป็นต้องยกระดับความร่วมมือผ่านการบูรณาการแนวทางการวิจัยเพื่อผลักดันการแปรผลลัพธ์ในห้องปฏิบัติการมาสู่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ...อย่ารอจนประวัติศาสตร์มอบบทเรียนให้เราอีกเลย

นักวิทยาศาสตร์ที่ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาแห่งชาติในแมนิโทบา กำลังเตรียมวัคซีนอีโบลาทดลองเพื่อจัดส่งให้แก่องค์การอนามัยโลก ภาพประกอบจาก Public Health Agency of Canada/Handout/Reuters

ผู้เขียน เคนดัล ฮอยท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จากวิทยาลัยดาร์ตมัธ

ขอบคุณที่มา : www.theconversation.com