ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.โพสต์ทูเดย์ : นโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพในภูมิภาคเอเชีย หรือเมดิคอลฮับ ปลุกให้ผู้ประกอบการโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต่างปรับตัวลงทุนพัฒนาการรักษาพยาบาล เทคโนโลยีอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะการให้บริการของบุคลากรที่ดีเลิศ สร้างจุดขายและความแตกต่างทิ้งห่างคู่แข่งขันระหว่างโรงพยาบาลในประเทศและต่างประเทศ

นพ.นิธิวัฒน์ กิจศรีอุไร รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพ เล่าว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เตรียมความพร้อมรองรับการใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยก่อสร้างตึกอินเตอร์แยกแผนกการให้บริการนักท่องเที่ยวในตลาดสำคัญ เช่น กลุ่มอาหรับเอมิเรตส์ จีน ญี่ปุ่น ซึ่งนิยมเดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เพราะมีการบริการที่ดี ไม่ต้องรอคิวนาน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลสมเหตุสมผล สามารถวางแผนท่องเที่ยวต่อเนื่องภายหลังรับบริการทางการแพทย์ได้ด้วย

"ปัจจุบันการแพทย์ของไทยได้รับการยอมรับถึงคุณภาพการรักษาและการบริการที่ดีจากบุคลากรไม่แพ้ชาติใดในอาเซียน มีแพทย์เก่งๆ ที่มีชื่อเสียงเฉพาะด้าน วัดจากการเข้ามาใช้บริการของนักท่องเที่ยวต่างชาติภาพรวมเติบโตขึ้นทุกปี ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพมีผู้มาใช้บริการประมาณ 3,820 คน/วัน แบ่งเป็นคนไทย 75% ต่างชาติ 25%" นพ.นิธิวัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้ โรงพยาบาลได้พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ การรับแพทย์ พยาบาลที่มีทักษะการใช้ภาษาที่สาม เช่น จีน ญี่ปุ่น ภาษาชาติอาเซียน การมีล่ามไว้รองรับนักท่องเที่ยวในหลายชาติ ในอนาคตเตรียมขยายพื้นที่ให้บริการชาวเมียนมาเพิ่มเติมด้วย

นพ.นิธิวัฒน์ บอกว่า โรงพยาบาลกรุงเทพได้เปิดให้บริการต่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงพนมเปญ เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ส่วนประเทศ อื่นๆ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ซึ่งโรงพยาบาลเน้นการลงทุนด้วยตัวเองมากกว่าการเทกโอเวอร์ ส่วนในอนาคตมีแนวโน้มการตั้งทีมเพื่อเข้ารับการบริหารจัดการ

โรงพยาบาลกรุงเทพได้รับการเชิญจากโรงพยาบาลเอกชนในประเทศอินเดีย ปากีสถาน ขอให้โรงพยาบาลไปร่วมลงทุน พร้อมวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการทางการแพทย์ รวมถึงนำแพทย์และพยาบาลไทยไปให้บริการที่ประเทศดังกล่าว เพราะการบริการของบุคลากรไทยเป็นจุดแข็งที่ต่างชาติให้การยอมรับและชื่นชอบ

ด้านความหลากหลายในการดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่มมุสลิม โรงพยาบาลได้จัดพื้นที่รองรับขึ้นมาเฉพาะ เช่น ห้องละหมาด อาหารมุสลิม เป็นต้น การมีพื้นที่ให้บริการของสถานทูต เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการติดต่อทำวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยว

สำหรับทิศทางการผลิตบุคลากรทางการแพทย์ของไทย มองว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง การวางกฎระเบียบควรทันต่อยุคสมัย สามารถตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบันได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนร่วมกันพัฒนาบุคลากรรองรับการเติบโตทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่งไทยยังขาดแคลนบุคลากร ทำให้ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ ขณะที่ฟิลิปปินส์มีเป้าหมายการผลิตแพทย์และพยาบาล เพื่อส่งออกบุคลากรทางการแพทย์สู่ต่างประเทศ

นพ.นิธิวัฒน์ กล่าวว่า รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้แพทย์จากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาเป็นแพทย์ฝึกสอนในไทย รวมถึงนำมารักษาพยาบาลได้ในแต่ละกรณี เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทยได้เรียนรู้ถึงเทคนิคการรักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติ ที่ผ่านมาไทยปิดกั้นในส่วนนี้ ทำให้ขาดโอกาสที่จะเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เพิ่มเติม

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเพิ่มสถาบันสอนแพทย์และพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้มากขึ้น และหาช่องทางการ ส่งเสริมให้พัฒนาบุคลากร เพื่อมาเป็นอาจารย์สอนในวิชาชีพแพทย์ต่อไป

ด้านตลาดต่างประเทศ ปีนี้โรงพยาบาลยังตรึงราคาค่าให้บริการในราคาเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในประเทศ จากปกติปรับราคาขึ้นทุกปีเฉลี่ย 5-7% การสร้างแพ็กเกจรักษาพยาบาล การตรวจเช็กสุขภาพที่มีความหลากหลายครอบคลุมโรค พร้อมเพิ่มความถี่ในการจัดรายการส่งเสริมการขาย

นพ.นิธิวัฒน์ กล่าวว่า การปรับตัวสร้างความแข็งแกร่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ โรงพยาบาลตั้งเป้าเป็นอันดับ 1 ด้านการบริการที่เป็นเลิศในอาเซียน และติด 1 ใน 5 ของโลกที่มีมูลค่าการลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาล

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 16 กันยายน 2558