ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.พัฒนา Health IT ตามแนวทางองค์การอนามัยโลกและสหภาพโทรคมนาคม เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชน ข้อมูลเจ็บป่วยของประชาชนเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ เพิ่มความสะดวกรับส่งต่อผู้ป่วย และตอบสนองรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล พร้อมจับมือ HIMSS จัดประชุมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสุขภาพที่ประเทศไทยในปี 2559

วันที่ 23กันยายน 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงประจำกระทรวง และนายเจเรอมี บอนฟีนี (Mr.Jeremy Bonfini) รองประธานบริหารองค์กรเฮลธ์แคร์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ เมเนจเมนท์ ซิสเต็มส์ โซไซตี (Healthcare Information Management System Society : HIMSS) ลงนามบันทึกความเข้าใจ “การจัดประชุมและนิทรรศการ HIMSS เอเชียแปซิฟิก16 ที่ประเทศไทย ในปี 2559 (HIMSS AsiaPac16 Conference and Exhibition) โดยมี นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขร่วมเป็นพยานและเป็นผู้จัดงานในครั้งนี้

นพ.สุริยะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับองค์กรเฮลธ์แคร์ อินฟอร์เมชั่น แอนด์ เมเนจเมนท์ ซิสเต็มส์ โซไซตี หรือ HIMSS (Healthcare Information Management System Society : HIMSS) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสุขภาพ การศึกษา งานรณรงค์ การวิจัยทางการตลาด และการบริการสื่อรอบโลก จัดประชุมและนิทรรศการการสื่อสารด้านสุขภาพระดับเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 16 ที่ประเทศไทย ในปี 2559  (HIMSS AsiaPac16 Conference and Exhibition) เพื่อเผยแพร่การพัฒนางานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสุขภาพทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพิ่มความเข้มแข็งให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สามารถนำมาพัฒนาระบบเพื่อจัดบริการแก่ประชาชน สามารถเข้าถึงข่าวสารความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม เกิดผลดีต่อระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ

นพ.สุริยะ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสุขภาพ (eHealth หรือ Health IT) ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกและสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ ซึ่งหลายประเทศได้นำมาเป็นกรอบในการดำเนินงาน โดยจะมีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลสุขภาพของประชาชน รวมทั้งบุคลากรการแพทย์ด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องเป็นเครือข่ายทั่วประเทศสามารถตรวจสอบข้อมูลการเจ็บป่วยของประชาชนได้ไม่ว่าจะเข้ารับบริการที่ใดก็ตาม เพิ่มความสะดวกในการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลได้โดยเฉพาะภาวะวิกฤติฉุกเฉินจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจากแพทย์เฉพาะทาง รวมทั้งใช้พัฒนาความมั่นคงของระบบยา วัคซีน เวชภัณฑ์ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ เร่งรัดการพัฒนาระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพและพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพให้ประชาชนที่มีความต้องการบริการรูปแบบพิเศษ ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล และตอบสนองนโยบายให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการเรียนการสอนโดยไม่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่