ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เสวนา “สวัสดิการถ้วนหน้า ความเป็นไปได้ในสังคมไทย” หนุนไทยเดินหน้า “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” สร้างความเป็นธรรมให้คนในประเทศ เพิ่มธรรมาภิบาล ช่วยลดปัญหาสังคม แนะเพิ่มรายได้ภาครัฐโดยปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีไม่ให้มีช่องโหว่ตามข้อแนะนำธนาคารโลกจะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5%ของจีดีพี พร้อมเตรียมศึกษาแนวทางปฏิรูประบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หลังพบวิธีจัดเก็บสวนทางประเทศดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการ แถมเป็นระบบไม่เป็นธรรม เอาเปรียบมนุษย์เงินเดือน ชี้ประเทศแถบยุโรปเป็นรัฐสวัสดิการได้เพราะมีระบบสังคมแบบเปิด ประชาชมีสิทธิ์มีเสียงร่วมกำหนดนโยบายได้ ไม่ใช่การเมืองแบบบนลงล่าง

ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  - เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ในการเสวนาวิชาการและนโยบาย “สวัสดิการถ้วนหน้า ความเป็นไปได้ในสังคมไทย” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทำงานวาระทางสังคม และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐสวัสดิการ คือการจัดการอย่างไรให้เกิดการสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายซ้ำผลการเติบโตนั้น และต้องทำให้เกิดการกินดี อยู่ดี มีสุข และมีสิทธิ ซึ่งต้องไม่ใช่เพียงแค่การบรรเทาทุกข์หรือสังคมสงเคราะห์ แต่ต้องมีระบบที่ดี นอกจากนี้รัฐสวัสดิการยังไม่ใช่การสร้างความเท่าเทียมให้กับคนในสังคม แต่เรื่องเป็นเรื่องความยุติธรรม เพื่อให้คนเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นถ้วนหน้าซึ่งจะช่วยลดปัญหาสังคมได้ แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทำให้ปัญหาสังคมเหลือศูนย์ได้ เพียงแต่น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ยังพบว่าประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี ธรรมาภิบาลในประเทศจะสูง อย่างประเทศในกลุ่มยุโรปเหนือ ขณะที่ประเทศไทยธรรมาภิบาลถูกจัดอยู่อันดับที่ 102-103

นอกจากการจัดสวัสดิการสังคมแล้วจะต้องมีระบบกระจายซ้ำ อย่างการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีอสังหาริมทรัพย์ และภาษีมรดก เพื่อให้เกิดการกระจายการเข้าถึง แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีการจัดเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพราะส่วนใหญ่เป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่คนจนคนรวยเสียภาษีเท่ากันหมด ทั้งที่หลักการคนจนควรจ่ายน้อยที่สุด

“เข้าใจว่าคนไทยถูกจัดเก็บภาษีสูงสุดที่ร้อยละ 35 แต่เป็นอัตราจัดเก็บภาษีต่ำสุดในประเทศสวีเดน โดยสูงสุดอยู่ที่ร้อยละ 59 ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องปฎิรูประบบภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดรัฐสวัสดิการนี้ แต่ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่าภาษีที่ถูกจัดเก็บนี้จะกลับมาช่วยตอนเขาแก่ และจะนำประเทศไปสู่การมีระบบธรรมมาภิบาลที่ดี” รศ.ดร.กิติพัฒน์ กล่าว

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศในแถบยุโรปเหนือที่มีรัฐสวัสดิการและเป็นที่ชื่นชมเป็นเพราะมีระบบการเมืองแบบเปิด โดยประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงในการร่วมกำหนดนโยบายได้ ไม่ใช่แบบบนลงล่าง อีกทั้งการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองยังนำไปสู่การจัดระบบที่เป็นความต้องการของประชาชน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มาง่ายๆ ต้องผ่านการต่อสู้ทางการเมือง และที่สำคัญคือคนในประเทศต้องรับกติกาหลังเลือกตั้งต้องให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากได้บริหารจนหมดวาระและเลือกตั้งใหม่ ซึ่งประเทศไทยหากมีระบบการเมืองที่เคารพกติกาก็อาจมีระบบรัฐสวัสดิการนานแล้วเช่นกัน  

ทั้งนี้ในปี 2552-2554 ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำวิจัยแนวทางการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ซึ่งเป็นแผนของรัฐบาลประชาธิปัตย์ที่จัดทำสวัสดิการถ้วนหน้าให้แล้วเสร็จในปี 2560 ตามแนวทางของ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชน นับเป็นงานวิจัยสวัสดิการถ้วนหน้าที่ละเอียดและครอบคลุมที่สุดเท่าที่มีในประเทศไทย โดยเน้นการจัดทำสวัสดิการพื้นฐานเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเดือดร้อน ขณะเดียวกันต้องทำให้สังคมเติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมวิเคราะห์งบประมาณดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าใช้งบประมาณอยู่ที่ 160,000 ล้านบาท หากต้องดำเนินสวัสดิการถ้วนหน้าให้ครอบคลุมทั้งหมดจะต้องเพิ่มงบประมาณเป็น 400,000 ล้านบาท 

“เมื่อคำนวณเป็นจีดีพีประเทศ หากประเทศไทยดำเนินนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าจะต้องใช้งบเพิ่มขึ้น 2.5% ของจีดีพี ปัจจุบันเราใช้งบประมาณสวัสดิการอยู่ที่ 10% ของจีดีพี เท่ากับว่าเราต้องใช้งบประมาณ 12.5% ของจีดีพีประเทศ จำเป็นต้องหารายได้เข้ามาเพิ่มเติมให้ภาครัฐในส่วนนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก เพราะที่ผ่านมาธนาคารโลกระบุว่าในระบบภาษีของประเทศไทย หากปรับปรุงระบบจัดเก็บไม่ให้มีช่องโหว่ จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5%ของจีดีพี” ศ.ดร.ผาสุก กล่าว

ดร.ผาสุก กล่าวว่า เมื่อดูรายได้ภาครัฐแม้ว่าจะมีการขยับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อดูอัตรารายจ่ายภาครัฐกลับมีการขยับเพิ่มมากกว่า โดยในส่วนรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่มีการขยับเพิ่มเลยทั้งที่อัตราการเติบโตจีดีพีประเทศสูงถึง 5% ทั้งนี้จากข้อมูลโครงสร้างภาษีประเทศ 2557 เราจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2.8 แสนล้านบาท หรือ 14% ภาษีนิติบุคคลหรือจากบริษัทจัดเก็บได้มากสุด 5.7 แสนล้านบาท หรือ 29% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.8 แสนล้านบาท หรือ 24% ภาษีการค้า 3.8 แสนล้านบาท หรือ 19% ภาษีนำเข้า 1.1 แสนล้านบาท หรือ 6% และภาษีอื่นๆ 1.7 แสนล้านบาท หรือ 8% จากโครงสร้างนี้จะตรงกันข้ามกับประเทศรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีการจัดเก็บสูงกว่า โดยกลุ่มประเทศ OECD อยู่ที่ 25% ขณะที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียอยู่ที่ 33% นอกจากนี้ยังมีบางประเทศจัดเก็บสูงถึง 37% ขณะที่การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 10% เท่านั้น เพราะนโยบายส่งเสริมการลงทุน แต่จะถูกจัดเก็บเพื่อสมทบในระบบประกันสังคมอีก 10% แทน หากประเทศไทยเพิ่มการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะทำให้มีเงินเพิ่มถึง 5.6 แสนล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาพบว่า ในประชากร 68 ล้านคน มีคนทำงาน 39 ล้านคน มีคนกรอกใบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 9.9 ล้านคน ในจำนวนนี้ผู้ที่จ่ายภาษีจริงมีเพียงแค่ 3.3 ล้านคนเท่านั้น ทั้งนี้แม้ว่าเราจะมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เป็นการจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรมเพราะคนจนคนรวยจ่ายเท่ากันหมด ต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จ่ายตามสัดส่วนรายได้ที่เป็นธรรมมากกว่า ขณะเดียวกันเรายังมีข้อยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกกว่า 200 รายการให้กับผู้มีรายได้มาก ส่งผลให้ระบบจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไม่ทำงาน

“จากโครงสร้างภาษีนี้จะเห็นได้ว่า กลุ่มผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดามีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เสียภาษี โดยผู้ที่มีรายได้ 150,000-1,000,000 บาท เป็นกลุ่มที่มีการจัดเก็บภาษีมากที่สุดจำนวนกว่า 3 ล้านคน โดยรัฐจัดเก็บได้ 35% ของรายได้ภาษี ขณะที่ผู้มีรายได้ 1,000,000-4,000,000 บาท มีเพียง 184,911 คน จัดเก็บได้ 30%ของรายได้ภาษี ส่วนผู้มีรายได้ 4,000,000 บาทขึ้นไป มีเพียงแค่ 24,709 คน จัดเก็บได้ 35% ของผู้เสียภาษี สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี มีการยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้ และยังเป็นระบบเอาเปรียบมนุษยเงินเดือน จึงเป็นจุดสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการปฏิรูประบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อให้มีรายได้เข้าสู่ภาครัฐมากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน” ดร.ผาสุก กล่าว

ด้าน นายจอน อึ้งภากรณ์ ที่ปรึกษากลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า การเกิดรัฐสวัสดิการนอกจากปรัชญาความเชื่อแล้ว ยังเป็นเรื่องการเมืองและผลประโยชน์ เพราะรัฐสวัสดิการในประเทศอังกฤษเกิดจากพรรคแรงงาน แต่ในส่วนของประเทศไทยนั้นส่วนตัวไม่มีความหวัง เพราะเราไม่มีพรรคที่เป็นตัวแทนของคนจนจริงๆ นอกจากนี้ควรมีการแยกระหว่างรัฐสวัสดิการและประชานิยม เพราะรัฐสวัสดิการคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในสิ่งที่จำเป็น อย่างการศึกษา การรักษาพยาบาล เพื่อให้กลุ่มที่ด้อยที่สุดในสังคมได้เข้าถึงอย่างถ้วนหน้า ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำจากนี้คือการสร้างกระแสและผลักดันทางการเมือง