ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทุกครั้งที่มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น และมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หรือแม้การตรวจหาความสัมพันธ์ของความเป็นพ่อแม่ลูก  การตรวจ “ดีเอ็นเอ” จะถูกกล่าวถึงทุกครั้ง และดีเอ็นเอที่ว่านี้คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร น่าเชื่อถือได้แค่ไหน และผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจหาดีเอ็นเอมีการทำงานอย่างไร

พ.ต.อ.วาที อัศวุฒมางกุร

พ.ต.อ.วาที อัศวุฒมางกุร หัวหน้ากลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมีและเขม่าดินปืน สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับงานตรวจหาดีเอ็นเอมานานถึง 17 ปี จะมาไขข้อข้องใจเรื่องของดีเอ็นเอ กล่าวว่า ในกลุ่มงานตรวจเลือดชีวเคมีและเขม่าดินปืน จะทำหน้าที่รับวัตถุพยานตัวอย่างจากศพที่มีการตายผิดธรรมชาติ แพทย์จะทำการตรวจและส่งตัวอย่างวัตถุพยานเข้ามาที่กลุ่มงานวัตถุพยานที่ว่านี้ เช่น เส้นผม เส้นขนกระดูก ไม้พันสำลีที่ป้ายสารคัดหลั่งจากช่องคลอด ทวารหนัก ปาก เลือด

“ในกลุ่มงานตรวจเลือดฯ เราเน้นเรื่องของการพิสูจน์ดีเอ็นเอเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการที่ส่งตัวอย่างวัตถุพยานขึ้นมาว่าทำอะไรได้บ้าง เช่น เพื่อการตรวจยืนยันตัวบุคคล เราสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่าศพรายนี้เป็นศพไม่ทราบชื่อ มีรูปแบบดีเอ็นเอแบบไหน ญาติพี่น้องที่สงสัยเข้ามาขอตัวเปรียบเทียบดีเอ็นเอ ก็สามารถที่จะใช้การทดสอบดีเอ็นเอจากญาติพี่น้องเทียบกับศพที่ไม่ทราบชื่อนี้ได้ นี่คือเรื่องการพิสูจน์บุคคล ประเด็นหนึ่งในเรื่องของการทำการเปรียบเทียบกับคนร้าย กรณีที่ศพตายแบบผิดธรรมชาติเป็นการถูกฆ่ากรรม หรือข่มขืน แพทย์จะทำการส่งตัวอย่างของผู้ตาย แล้วส่งตัวอย่างวัตถุพยานที่ติดมากับศพเพื่อทำการพิสูจน์ดีเอ็นเอ เมื่อตำรวจคณะสอบสวนจับกุมคนร้ายผู้ต้องสงสัยได้ก็จะส่งตัวผู้ต้องสงสัยมาที่นิติเวชเพื่อทำการตรวจดีเอ็นเอเพื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างดีเอ็นเอที่อยู่ที่เราอย่างนี้เป็นต้น อันนี้คือหน้าที่หลัก”

พ.ต.อ.วาที กล่าวต่อว่า ในแต่ละวันจะมีศพของนิติเวชจะเข้ามาประมาณ10-20 ศพ แต่วัตถุพยานเราไม่ได้เฉพาะจากที่ศพเท่านั้น เรารับตรวจทั่วประเทศ ดังนั้นฝ่ายสอบสวนทั่วประเทศสามารถส่งวัตถุพยานมาที่เราได้ ไม่ว่าจะเป็นจากศพ และการให้บริการประชาชนสามารถเข้ามาขอรับการตรวจพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก เมื่อชำระเงินแล้วก็สมารถตรวจได้เช่นกันโดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคดี

พ.ต.อ.วาที กล่าวว่าการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอที่ยากที่สุด คือ การตรวจดีเอ็นเอจากกระดูกที่เสื่อมสภาพมากๆ หรือถูกเผารุนแรง เป็นการตรวจที่ค่อนข้างยาก ซึ่งการจะตรวจดีเอ็นเอจากกระดูกได้นั้นรอระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน มันจะกลายสภาพของการเป็นกระดูก จากศพกลายเป็นเหลือแต่กระดูก จะพบว่าระยะเวลาที่ผ่านไปแต่ละเดือน จะทำลายเซลล์ทุกส่วนจนเหลือสุดท้ายคือกระดูกมันจะเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ จนแห้งจึงจะตรวจจากกระดูก ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายที่ตรวจได้ และตรวจค่อนข้างยากเพราะมีปัจจัยแวดล้อมตรงอื่นที่เข้ามาทำให้กระดูกเสียสภาพได้เช่นเดียวกัน ส่วนจะยากขึ้นอีกหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของกระดูกที่ส่งมาให้ตรวจด้วย

“คนไทยยังเข้าใจเรื่องของการตรวจดีเอ็นเอน้อย ยังสับสนอยู่ว่าการตรวจดีเอ็นเอทำไมถึงต้องตรวจออกมาแล้วมันตรงกับคนนี้ ผมว่ามันไม่ถูกใจมากกว่า แต่คำว่าถูกต้องเขาไม่ทราบว่าถูกต้องคืออะไร อย่างกรณีการตรวจพิสูจน์ในคดีข่มขืน ทำไมตรวจจากคนนี้ หรือไม่ตรวจจากคนนี้ในสายญาติเดียวกัน คือการตรวจดีเอ็นเอไม่ได้มีแค่คำว่าดีเอ็นเอคำเดียว มันมีวิธีการตรวจหลายวิธีๆ เช่น มีการตรวจในนิวเคลียสในเซทโคโมโซมในโมโตมิเนียมในดีเอ็นเอ ซึ่งเราจะใช้การทดสอบไหน ชุดไหนวิธีการใดขึ้นอยู่กับเคสที่เข้ามาเท่านั้นเอง ประเด็นของการทดสอบแต่ละการทดสอบมันจะสื่อสารของเรื่องตัวมันเอง”

ขอบคุณภาพจาก www.fastcoexist.com

เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีคดีไหนที่คิดว่ายากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ พ.ต.อ.วาที ระบุว่า “คดียากมันไม่มีอะไรยาก มีแต่คดีหนักใจมากกว่า หนักใจตรงที่ว่า คดีที่ไม่ถูกใจชาวบ้านเราจะกลายเป็นจำเลยซึ่งทำอะไรไม่ได้ ในเมื่อพื้นฐานของการตรวจ เราตรวจตามมาตรฐานสากล เพียงแต่ว่าการมาตรวจที่หน่วยงานของตำรวจมันเป็นการทำงานของภาพรวม ประชาชนยังไม่เชื่อถือในองค์กรตำรวจ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ถูกใจก็ด่า แต่เรายึดถือความถูกต้องเป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม คดีดังๆ ตามทั่วไปที่พอตอบคำถามตอบให้สังคมแล้ว แต่สังคมยังไม่ไว้ใจยังต้องไปส่งให้ที่อื่นตรวจ ยังมีหลายคดี พ.ต.อ.วาที บอกว่า ที่ผ่านมามีคดีที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นและส่งตรวจซ้ำ เป็นเหตุให้เสียทั้งงบประมาณโดยใช่เหตุ และไม่ได้มีประโยชน์อะไรเพราะเราทำตามหลักมาตรฐานสากลอยู่แล้ว ตรวจที่ไหนก็ต้องเหมือนกัน แต่มันเสียความเชื่อมั่นกับองค์กร เสียงบประมาณ เหตุที่ประชาชนไม่ให้ความเชื่อมั่น อาจมีสาเหตุภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจ

ในส่วนตัวตนเองมองว่า ส่งตรวจที่ไหนก็ได้ เพียงแต่ว่าเขาคงไม่เชื่อมั่นในหน่วยงานของตำรวจ ทุกที่ที่สามารถตรวจดีเอ็นเอได้จะมีมาตรฐานเดียวกันหมด ในประเทศไทยทุกที่ๆ เป็นองค์กรเกี่ยวกับการตรวจดีเอ็นเอแล้ว จะมีเครือค่ายนิติพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยมี รศ.ดร.บุษบา ฤกษ์อำนวยโชค ประธานเครือค่ายนิติพันธุศาสตร์แห่งประเทศไทยโดยมีสถาบันที่สามารถตรวจดีเอ็นเอมีทั้งหมด 10 กว่าแห่งทั่วประเทศ เช่น รพ.ศิริราช, รพ.จุฬาลงกรณ์, รพ.รามาธิบดี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือทุกที่ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด

การทำงานของเครือข่ายที่อยู่ในเครือข่ายนี้ทั้งหมด เราจะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว เวลาจะทำอะไรมันจะเชื่อมต่อถึงกันหมดมีการตรวจสอบระหว่างห้องปฏิบัติการร่วมกันทุกปี โดยเฉพาะสถาบันนิติเวชเราได้ตรวจสอบกับต่างประเทศด้วย จนได้การรับรองไอเอสโอ 1725 เรามีมาตรฐานทุกอย่าง แต่ขาดความเชื่อมั่นของประชาชนแค่นั้น

พ.ต.อ.วาที กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ในกลุ่มงานมีประมาณ 7 คน เมื่อเทียบกับปริมาณงานที่เข้ามาเราจึงใช้วิธีการแบ่งหน้าที่กัน สิ่งที่ขาด ณ วันนี้คือ คนกับงบประมาณ

ทั้งนี้ เรื่องเทคโนโลยีการตรวจดีเอ็นเอไปไวมากมีคนติดตามจริงๆ เพียงกลุ่มเล็กๆ แต่ว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเขาแค่ฟังมาหรือดูละครง่ายๆ ตรวจพ่อแม่ลูกดีเอ็นเอ แค่พูดคำนี้มี มาเป็นสิบๆ ปี แต่นอกจากสิบปีที่ผ่านมาเทคโลยีการตรวจดีเอ็นเอมันขยับไปไกลกว่านั้น มันไปไกลกว่าการตรวจพ่อแม่ลูก มันมีเทคโนโลยีอื่นในการที่จะเข้ามาช่วยตรวจจับในกรณีการตรวจสลิป การตรวจดีเอ็นเอจากตำแหน่งเดียวเพื่อยืนยัน เป็นต้น  ตรงจุดนี้ประชาชนอาจจะไม่ทราบว่าการตรวจดีเอ็นเอมีความแม่นยำ ตามหลักวิทยาศาสตร์ถึง 99.99 %

นอกจากนี้ ทางสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ยังได้ทำโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ เป็นการทำงานร่วมกันสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อออกไปจับพวกที่อุ้มเด็กหรือลักพาตัวเด็กไปขอทาน เพื่อตรวจหาดีเอ็นดี หากไม่ตรงกันเราจะนำส่งเด็กหาพ่อแม่ที่แท้จริงต่อไป

สุดท้าย พ.ต.อ.วาที กล่าวว่า “หน่วยงานของเรามีมาตรฐานเกินมาตรฐาน ขอแค่ประชาชนมั่นใจ เราเป็นนักวิทยาศาสตร์เราทำงานบนพื้นฐานของความเป็นจริง การที่จะเสกสรรปั้นแต่งมันเป็นไปไม่ได้ เรามีหน่วยงานอื่นตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ผู้เสียหาย คนร้ายในคดี สามารถนำวัตถุพยานไปตรวจที่ไหนก็ได้ ซึ่งเราทำอะไรที่ไม่ดีก็ไม่มีประโยชน์ต่อเรา เพราะฉะนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในองค์กรในหน่วยงานตำรวจ เราทำงานเพื่อความเป็นจริง กฎหมายระบุให้ใช้การตรวจนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นหลักในการที่จะลงโทษคนร้าย เพราะฉะนั้นถือว่านิติวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญในระดับชาติในการสืบสวนจับคุมขอให้เชื่อมั่นในหน่วยงานของตำรวจเราทำงานตรงไปตรงมา”

หมายเหตุ จากเว็บไซต์ www.thaibiotech.info ระบุว่า ดีเอ็นเอ (DNA) คือ ชื่อย่อของสารพันธุกรรม มีชื่อแบบเต็มว่า กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (Deoxyribonucleic Acid) ซึ่งเป็นจำพวกกรดนิวคลีอิก (Nucleic acid) (กรดที่สามารถพบได้ในส่วนของใจกลางของเซลล์) ซึ่ง ดีเอ็นเอ (DNA) มักพบอยู่ในส่วนของนิวเคลียสของเซลล์ โดยพันตัวอยู่บนโครโมโซม (Chromosome)

ดีเอ็นเอ (DNA) มักพบในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ได้แก่ คน (Human), สัตว์ (Animal), พืช (Plant), เห็ดและรา (Fungi), แบคทีเรีย (Bacteria), ไวรัส (Virus) (มีคนบางกลุ่มมีความเห็นว่า ไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเพราะมีองค์ประกอบบางอย่างไม่ครบ) เป็นต้น ดีเอ็นเอ (DNA) ทำการเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของ สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ เอาไว้ ซึ่งมีลักษณะที่มีการผสมผสานมาจากสิ่งมีชีวิตรุ่นก่อน ซึ่งก็คือ รุ่นพ่อและแม่ (Parent) ทั้งยังสามารถถ่ายทอดลักษณะไปยังสิ่งมีชีวิตรุ่นถัดไป ซึ่งก็คือรุ่นลูก หรือ รุ่นหลาน (Offspring)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง