ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย สปสช. และคณะทันตแพทย์ 9 มหาวิทยาลัย เชิญชวนผู้สูงอายุสิทธิ์บัตรทอง 60 ปีขึ้นไป รับบริการใส่ฟันเทียมฟรี ภายใต้ “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่หน่วยบริการร่วมโครงการ เพื่อมีฟันบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิต ถึง 31 พ.ค. 59 สอบถามเพิ่มเติม 1330

นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความว่า “เวลาไม่มีฟันกินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง”กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2548 อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปี 2557 ได้ประกาศโครงการฟันเทียมพระราชทาน เนื่องในโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ และในปี 2558 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายการใส่ฟันเทียมทั้งปากภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจำนวน 35,000 ราย มอบเป็นขวัญปีใหม่ผู้สูงอายุสิทธิ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) อายุ 60 ปีขึ้นไป

นพ.ชูชัย กล่าวว่า จากเป้าหมายการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุในปี 2558 นี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการใส่ฟันเทียมให้ผู้สูงอายุได้มีฟันในการบดเคี้ยวและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี กรมอนามัย และ สปสช.จึงได้ร่วมกับคณะทันตแพทย์ 9 มหาวิทยาลัย สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดำเนิน “โครงการฟันเทียมพระราชทาน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ใส่ฟันเทียมทั้งปากให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสิทธิ์บัตรทองจำนวน 2,200 ราย โดยไม่ต้องใช้ใบส่งและไม่ต้องชำระค่าบริการ ทั้งนี้สามารถลงทะเบียนรับบริการได้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2558 -31 พฤษภาคม 2559

“หลังการเปิดลงทะเบียนโครงการได้มีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งเข้ารับบริการใส่ฟันแล้ว ส่งผลให้สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ดี มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุสิทธิบัตรทองอายุ 60 ปี ขึ้นไปสิทธิ์บัตรทอง ที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหารเข้ารับบริการตามหน่วยบริการที่กำหนดได้ โดยสอบถามรายละเอียดได้สายด่วน สปสช.1330” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าว   

สำหรับหน่วยบริการภายใต้ความร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 สถาบัน ได้แก่ 1) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.มหิดล 2) คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ 4) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ 5) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.รังสิต 6) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ 7) คณะทันตแพทย์ศาสตร์ ม.นเรศวร 8) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น และ 9) คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์