ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.จับมือ รพ.มหาวิทยาลัย เดินหน้าสิทธิประโยชน์ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตต่อเนื่องปี 59 ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกผิดปกติ และโรคอื่นๆ ที่จำเป็น ช่วยผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูงเข้าถึงการรักษา เผย 7 ปี มีผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว 289 ราย

นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การปลูกถ่ายไขกระดูก โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic Stem Cell Transplantation: HSCT) เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาสำหรับโรคมะเร็ง ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคไขกระดูกผิดปกติ และโรคอื่นๆ ที่จำเป็น โดยเป็นวิธีการรักษาที่ยอมรับบรรจุอยู่ในมาตรฐานการรักษาของไทย ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ จึงนับเป็นการลงทุนรักษาที่คุ้มค่า แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้บรรจุเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ภายหลังจากที่ได้ดำเนินโครงการนำร่องนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งได้ผลจนเป็นที่น่าพอใจ สปสช.จึงได้เดินหน้าสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตอย่างต่อเนื่อง และตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการผู้ป่วยไปแล้วกว่า 289 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว 

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในปี 2559 นี้ สปสช.ยังจัดสรรงบประมาณสำหรับสิทธิประโยชน์การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้กับผู้ป่วย 30 ราย รายละ 800,000 บาท ประกอบด้วยค่า HLA matching ค่าทำปลูกถ่ายไขกระดูก ค่ายากดภูมิคุ้มกัน เคมีบำบัด รังสีรักษา ค่ายารักษาโรคติดเชื้อ/อาการแทรกซ้อนในระหว่างการดูแลผู้ป่วย รวมถึงค่าติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่มีการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยที่จะรับการรักษาจะต้องผ่านการพิจารณารับรองจากคณะทำงานพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติและคัดเลือกผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต สำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ 

สำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมบริการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ในปี 2559 นี้ มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.สงขลานครินทร์ และ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ (เฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่) ส่วนหน่วยบริการอื่นที่มีคุณสมบัติตามที่ สปสช.กำหนด สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ต้องผ่านการตรวจประเมินขึ้นทะเบียนหน่วยบริการตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด

“ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยที่มีภาวะไขกระดูกผิดปกติ และโรคอื่นๆ ที่จำเป็น ในอดีตมีจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลงเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา หรือมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการรักษา ซึ่งวิธีการรักษาโดยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ แต่การที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมากเกือบล้านบาทต่อราย กลายเป็นอุปสรรคสำคัญ โดยภายหลังจากที่ สปสช.ได้บรรจุในสิทธิบัตรทอง และจับมือร่วมกับหน่วยบริการที่มีศักยภาพปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ส่งผลให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ ตามหลักการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ปกป้องการล้มละลายจากภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะครอบครัวที่ยากจนแต่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคค่าใช้จ่ายสูง” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว