ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เผยว่า จากที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้นำเครื่องช่วยฟัง INTIMA ที่ผลิตขึ้นจากฝีมือคนไทยโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) หนึ่งในนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่ช่วยลดการพึ่งหาหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งผ่านการศึกษาวิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิผลของเครื่องช่วยฟังระบบดิจิตอลแบบกล่องที่พัฒนาต้นแบบโดยเนคเทค และต้นทุนของการคัดกรองการได้ยินและบริการเครื่องช่วยฟัง ไปขยายผลใช้ในชุดสิทธิประโยชน์ให้กับคนที่ประสบปัญหาความพิการทางการได้ยินและการสื่อความหมายที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย ใน 13 พื้นที่นำร่อง

พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์

พญ.วัชรา กล่าวว่า จากผลการติดตามเพื่อประเมินผลการนำร่องบริการเครื่องช่วยฟังไทย ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ใน 13 โรงพยาบาลนำร่องที่ร่วมปรับกระบวนการให้บริการให้มีการค้นหาและติดตามดูแลหลังการใส่เครื่องช่วยฟังอย่างต่อเนื่อง จำนวน 1,000 เครื่องนั้น ทีมวิจัยจาก สวรส. พบสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาในเชิงระบบของนโยบายต่อไป ทั้งการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องช่วยฟังอย่างต่อเนื่อง เพราะยังมีบางจุดที่ต้องพัฒนา เช่น สายหูฟังที่ชำรุดง่าย อย่างไรก็ตามผู้ผลิตสามารถแก้ไขจุดบกพร่องนี้ได้แล้ว ขณะที่ในด้านการพัฒนาระบบบริการเชิงรุกและการดูแลต่อเนื่อง เช่น การเชื่อมโยงระบบบริการทุกระดับ ที่อาจให้โรงพยาบาลชุมชนเป็นจุดประสาน ร่วมกับแผนกหู คอ จมูก ในโรงพยาบาลจังหวัด และราชวิทยาลัย จัดหากำลังคนทางด้านโสต ศอ นาสิก และนักโสตสัมผัสวิทยาและแก้ไขการพูดและการฟัง ในการลงพื้นที่คัดกรองร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบบริการให้เป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

“ในข้อเสนอจากงานวิจัยชี้ด้วยว่า ยังต้องมีการพัฒนาระบบมาตรฐานเครื่องช่วยฟังไทย และ Reference Lab ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา การปรับปรุง Data registration ให้ได้ Minimum data set และ synchronize ระบบฐานข้อมูลหากมีมากกว่า 1 ระบบเพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้ให้บริการ และการพัฒนาข้อเสนอมาตรการเชิงนโยบายสนับสนุน เช่น การเสนอเครื่องช่วยฟังไทยเข้าบัญชีนวัตกรรมไทย บัญชี 1 หรือ 2 ตามเงื่อนไขการวิจัยพัฒนา ที่ให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการนวัตกรรมของไทยผ่านวิธีพิเศษได้ เป็นต้น”

พญ.วัชรา กล่าวเพิ่มเติมว่า การศึกษาวิจัยในยุคปัจจุบันควรก้าวข้ามจากการวิจัยในรูปแบบเดิมๆ คือ มองว่าการศึกษาวิจัยในเชิงระบบหรือการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบาย จำเป็นต้องทำคู่ขนานไปกับการวิจัยทางการตลาด รวมไปถึงการวิจัยเพื่อพัฒนา (R&D) เช่น เครื่องช่วยฟังไทย ยังมีจุดที่ควรศึกษาเพิ่มเติมในแง่ของการตลาด อย่างการบริการหลังการขาย ที่จะต้องมีจุดถามตอบ แนะนำต่างๆ การพัฒนาเครื่องช่วยฟังใหม่ที่มากกว่า 1 รุ่น โดยอย่างน้อยต้องมีทั้งแบบกล่องและแบบทัดหลังหู เพื่อเป็นทางเลือกของผู้รับบริการต่อไป