ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข จัดระบบติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยง 2 กลุ่ม ได้แก่ ผู้มีประวัติเคยก่อคดี/ทำร้ายคนอื่น และกลุ่มดื่มสุราหรือไม่มีญาติดูแล ให้ติดตามถี่ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อดูแลรักษาต่อเนื่องเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป ป้องกันอาการกำเริบจากขาดยา ย้ำเตือนญาติหากพบผู้ป่วยเริ่มพูดไม่รู้เรื่อง พฤติกรรมเปลี่ยน ขอให้ติดต่อโรงพยาบาลที่รักษา สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือศูนย์ประชาบดี 1300 นำเข้าสู่การรักษา         

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการดูแลผู้ป่วยจิตเวช เพื่อสร้างความปลอดภัยชุมชนและสังคมว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดระบบติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยง 2 กลุ่มเป็นกรณีพิเศษ คือ กลุ่มผู้ที่มีประวัติเคยก่อคดี เคยทำร้ายคนอื่น หลงผิด หวาดระแวง ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอาการร้ายแรงพบน้อยประมาณร้อยละ 1 ของผู้ป่วยทั้งหมด และกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เช่นผู้ที่ดื่มสุรา หรือไม่มีญาติดูแล ซึ่งมีความเสี่ยงอาการกำเริบได้ง่าย โดยให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อสม.และเครือข่ายในพื้นที่ติดตามผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้ให้ถี่ขึ้น เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่อง ป้องกันการขาดยา จะสามารถควบคุมอาการและพฤติกรรมได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังทั่วไป โดยผู้เชี่ยวชาญได้จัดทำคู่มือการดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังใช้ในโรงพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศแล้ว คาดว่าจะขยายผลใช้ในเขตสุขภาพทุกเขตกลางปีนี้     

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า คาดการณ์ว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชประมาณ 5 แสนราย ในจำนวนนี้ 3 แสนรายอยู่ในระบบการดูแลรักษาแล้ว หากผู้ป่วยที่มีอาการ ได้กินยาตามแผนการรักษาในช่วง 2-3 ปีแรก จะได้ผลดีที่สุด มีโอกาสหายขาด แต่หากมีอาการเกิน 5 ปีจะกลายเป็นเรื้อรัง ปัญหาใหญ่คือการรักษาไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยมักมีปัญหาขาดยา อาการป่วยจะค่อยๆ กลับมา จึงต้องขอความร่วมมือญาติช่วยกันดูแล และสังเกตสัญญาณว่าอาการป่วยจะกลับมาอีกคือ ผู้ป่วยเริ่มไม่กินยา พูดไม่รู้เรื่อง ไม่ดูแลตัวเอง พฤติกรรมแปลกจากเดิม ขอให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่รักษา เพื่อนำผู้ป่วยกลับมาดูแลรักษาก่อนที่ขาดยานานเกินไป หรือโทร 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับประชาชนทั่วไป หากพบผู้มีอาการน่าสงสัยในสถานที่สาธารณะ ไม่มั่นใจว่าเป็นคนเร่ร่อน หรือมีอาการทางจิตหรือไม่ ซึ่งข้อสังเกตเบื้องต้น หากเป็นผู้ป่วยจิตเวช จะมีความคิด พฤติกรรมที่ผิดปกติ ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ สามารถสังเกตได้จากลักษณะท่าทาง สีหน้า แววตาที่แตกต่างจากคนทั่วไป หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้หยุดนิ่ง เพื่อไม่ให้เป็นสิ่งเร้า กระตุ้นให้ผู้ป่วยจิตเวชเกิดอาการหรือเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงได้ และหาโอกาสหลบเลี่ยงออกมา ขอให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือศูนย์ประชาบดี 1300 ตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คนไร้ที่พึ่ง และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 เพื่อนำตัวเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาตามระบบ ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดในที่ชุมชน ทั้งนี้ กรมสุขภาพจิตอยู่ระหว่างจัดทำหลักสูตรอบรมอาสาสมัครในการนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลในโรงพยาบาล ซึ่งต้องใช้ทักษะพิเศษต่างจากหน่วยกู้ชีพทั่วไป  

ทั้งนี้ โรคจิตเวช เป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ส่งผลต่อระบบความคิดมาแต่แรก ส่วนใหญ่จะเริ่มมีอาการประมาณวัยหนุ่มสาวตอนปลายต่อวัยกลางคน คล้ายโรคเรื้อรังอื่นๆ หากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่กดดันมากอาจปรากฏอาการเร็วขึ้น อาการรุนแรงที่สุดคือการก่อความรุนแรงต่อชีวิตตนเองและผู้อื่น เช่น พยายามฆ่าผู้อื่น ฆ่าตัวตาย รองลงมาคือ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นและตนเอง การวางเพลิง ก่อเหตุรำคาญ รบกวนผู้อื่น ทำร้ายทรัพย์สิน ถือเป็นอาการเรื้อรัง รักษาไม่หาย แต่หากรักษาต่อเนื่อง ดูแลตนเองดี ควบคุมอาการได้ ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นกัน