ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : การที่กำหนดเป้าหมายด้านสาธารณสุขไว้เพียงข้อเดียวทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้รับเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ทำให้วิตกกันว่าเป็นสัญญาณความหย่อนยานของการสาธารณสุขในระดับโลก อย่างไรก็ดีผู้เขียนและคณะไม่เห็นด้วยกับเสียงวิจารณ์นี้และยังคงเชื่อว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการยกระดับการสาธารณสุขระดับโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษเพื่อแก้ไขความยากจนทั้ง 8 ข้อนั้น เห็นได้ว่ามีเป้าหมายเจาะจงไปที่การสาธารณสุขระดับโลกถึง 3 ข้อ โดยได้เรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันลดอัตราตายในเด็ก ยกระดับสุขภาพของมารดา และรับมือกับปัญหาโรคภัยไข้เจ็บรวมถึงเอชไอวี/เอดส์และมาลาเรีย

ซึ่งแม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวทำให้ภาคสังคมและองค์กรบรรเทาทุกข์ตระหนักถึงความสำคัญของการสาธารณสุขระดับโลก  แต่ในอีกด้านหนึ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อกลับมีเป้าหมายด้านสาธารณสุขเพียงข้อเดียวภายใต้กรอบที่หละหลวมว่า: ให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีและส่งเสริมสุขภาวะแก่ประชาชนทุกคนในทุกช่วงอายุ

ภายใต้เป้าหมายนี้ยังมีวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุขอีก 9 ข้อไล่เรียงมาตั้งแต่ ป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ไปจนถึงลดการใช้สารเสพติดและส่งเสริมการอนามัยสิ่งแวดล้อม ขณะที่วัตถุประสงค์อีกหลายข้อก็ได้สอดแทรกไว้ในตัวเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ

มากเข้าไว้ก็ใช่ว่าจะดี

ความท้าทายข้อสำคัญประการหนึ่งสำหรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษอยู่ที่แนวทางสำหรับจำแนกเป้าหมายด้านสาธารณสุข เนื่องจากการเน้นไปที่โรคและภาวะอย่างใดอย่างหนึ่งจะทำให้เกิดการระดมทรัพยากรสำหรับโครงการจำเพาะประเภท ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสุขภาพของคนเราไม่สามารถแยกส่วนในลักษณะนั้นได้ ซึ่งบางคนอาจรอดชีวิตจากการคลอดลูกแต่มาเป็นโรคเรื้อรังเมื่ออายุมาก เช่นเดียวกับยารักษาเอชไอวี/เอดส์ที่บางคนได้รับได้ผลไม่ดีพอจากปัญหาโภชนาการบกพร่อง

ในการที่จะให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นนั้นแต่ละประเทศต้องอาศัยระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพดี ซึ่งสามารถตอบสนองต่อความต้องการอันหลากหลายของประชาชน และเปิดให้ประชาชนเข้าถึงการบริการโดยบุคลากรสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานด้วยอัตราค่าบริการที่เอื้อมถึงได้ ขณะเดียวกันบุคลากรสาธารณสุขก็จะต้องได้รับการสนับสนุนด้านยาและเทคโนโลยีที่จำเป็นภายใต้สภาพแวดล้อมการทำงานอย่างเป็นระบบ

ในช่วงแรกของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษนั้นเห็นได้ว่าการกำหนดเป้าหมายที่เจาะจงเกินไปนำไปสู่ความบิดเบือนในระบบสาธารณสุข เช่น การกวาดต้อนบุคลากรสาธารณสุขทั้งที่มีจำนวนไม่เพียงพอให้มาทำงานในโครงการที่ตอบสนองตามเป้าหมายและได้รับงบประมาณอุดหนุนมาก หรือสร้างระบบคู่ขนานสำหรับการจัดหาหรือจ่ายยาและอุปกรณ์เพื่อเป็นทางลัดตัดผ่านระบบการบริหารของรัฐ

เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนงบประมาณสาธารณสุขก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาและหาทางแก้ไขด้วยวิธีให้เงินอุดหนุนเพื่อเสริมระบบสาธารณสุขให้แข็งแกร่งขึ้น แต่ถึงเช่นนั้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ควรมีบทบาทแก้ปัญหามากกว่านี้ และเมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของการประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยิ่งเห็นความด้อยกว่าในแง่การกำหนดวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุขแบบองค์รวม

ประการต่อมา ความท้าทายสำหรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษด้านสาธารณสุขยังรวมถึงการอนุมัติงบประมาณสำหรับภารกิจหลักด้านสาธารณสุข เนื่องจากได้กำหนดภารกิจในทิศทางเดียวกันสำหรับทุกประเทศโดยไม่สนใจความแตกต่างด้านข้อมูลทางระบาดวิทยาหรือข้อมูลทางประชากร ซึ่งแม้ตัวภารกิจดังกล่าวมีความสำคัญต่อประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่ารายจ่ายที่สูงเกินไปสำหรับภารกิจด้านเอชไอวี/เอดส์นั้นไม่สอดคล้องกับภารกิจหลักด้านสาธารณสุขของหลายประเทศ

คงดีกว่าหากสอดคล้องกับสภาพการณ์จริง 

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งเมื่อรวมกับกระบวนการมีส่วนร่วมที่ใช้ในการร่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ทำให้เกิดวาระด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมยิ่งกว่าเดิมและอาจปรับให้สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ

การที่ประเทศรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูงต่างก็มีเป้าหมายสาธารณสุขร่วมกันนับเป็นโอกาศครั้งสำคัญต่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ โดยที่ประเทศรายได้น้อยสามารถเรียนรู้จากประเทศรายได้สูงถึงแนวทางการจัดการบริการสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อปัญหานานาประการ  

ขณะที่ประเทศรายได้สูงก็สามารถเรียนรู้จากประเทศรายได้น้อย โดยเฉพาะการมอบหมายภาระงานเบื้องต้นแก่บุคลากรสาธารณสุขที่มีทักษะต่ำกว่าแต่ยังคงอยู่ในระดับมาตรฐาน ระดมการสนับสนุนจากชุมชน หรือ การใช้เทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสารภายในระบบสาธารณสุข

ประการสุดท้าย แม้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมีเป้าหมายด้านสาธารณสุขโดยตรงอยู่เพียงข้อเดียว ทว่าปัญหาในประเด็นสาธารณสุขนั้นก็เกี่ยวโยงไปถึงเป้าหมายอื่นด้วย โดยสามารถเห็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างการยุติความยากจนและความหิวโหย ปรับปรุงการศึกษา การประปาและสุขาภิบาล รวมถึงส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและสุขภาพ ขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินภารกิจด้านสาธารณสุขผ่านเป้าหมายอื่น ได้แก่

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการมีงานทำอย่างทั่วถึง

เป้าหมายที่ 11: ส่งเสริมให้เมืองและถิ่นฐานมีความปลอดภัยและยั่งยืนยิ่งขึ้น

เป้าหมายที่ 13: แก้ไขการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ

เป้าหมายที่ 16: ส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและไม่แบ่งแยก

เป้าหมายที่ 10: ลดความเหลื่อมล้ำ

บ่อยครั้งที่บุคลากรภาคการสาธารณสุขมักกำหนดกรอบลวงตาตามขอบเขตการปฏิบัติงานและพันธกิจ ทั้งที่คำประกาศอัลมา อตาอันเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณสุขระดับโลกที่ยืนยงและสำคัญที่สุดได้ให้นิยามของสุขภาพไว้โดยหมายรวมว่าเป็น “ความสมบูรณ์ของสุขภาวะทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม”

แนวทางใหม่

เป็นที่คาดว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า ความท้าทายหลายประการในประเด็นด้านสุขภาพของมนุษย์จะเกิดขึ้นภายนอกกรอบของภาคสาธารณสุข โดยอาจพบตั้งแต่การอุบัติของโรคระบาดจากสัตว์ไปจนถึงปัญหามลพิษ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และอุบัติการณ์ที่สูงขึ้นของโรคอ้วน การจะรับมือกับความท้าทายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขจะต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้และปรับปรุงระบบสาธารณสุข ตลอดจนระบบสังคมที่รายล้อมประเด็นด้านสาธารณสุข เช่น ที่อยู่อาศัย คมนาคม สุขภาพสัตว์ การใช้ที่ดินในเมือง และกสิกรรม

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเปรียบเสมือนสิ่งย้ำเตือนความซับซ้อนในประเด็นด้านสุขภาพของมนุษย์และตัวระบบสาธารณสุขที่คอยค้ำจุน การจะบรรลุตามเป้าหมายจึงเป็นวาระอันท้าทายยิ่งต่อการสาธารณสุขในระดับโลก

ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องร่วมกันศึกษาแนวทางเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขและทำลายกรอบลวงตาในระบบสาธารณสุขเสีย อีกทั้งในการดำเนินตามเป้าหมายนั้นก็จะต้องรักษาสำนึกของการไม่แบ่งแยกและความร่วมแรงร่วมใจเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่แข็งแรง

ซาร่า เบนเน็ตต์ : รองศาสตราจารย์และรองผู้อำนวยการ Health Systems Program มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์

กาบิร ชีค : นักวิทยาศาสตร์อาวุโสและผู้อำนวยการ Governance Hub มูลนิธิสาธารณสุขประเทศอินเดีย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง