ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์เดลินิวส์ : สตง.แนะแก้กฎหมาย "สสส." ห้ามกรรมการมีผลประโยชน์ทับซ้อน หลังพบกรรมการบางคน ดันมูลนิธิตัวเอง เข้าขอรับงบประมาณ แนะดึงเงิน สสส.เข้าคลังลดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน

เว็บไซต์เดลินิวส์ : เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ในการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขณะนี้รอผลสรุปสุดท้ายของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) แต่ที่ผ่านมา สตง.ตรวจสอบมาตลอด และปัจจุบันก็ให้ผลเหมือนกันว่ามีการใช้เงินไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องสุขภาพ ซึ่งได้แจ้งล่วงหน้าไปแล้ว เมื่อปี 2556 ได้มีการส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแล้วว่าจะต้องมีการปรับแก้กฎหมาย โดยผู้ที่จะเป็นกรรมการกองทุนได้ ต้องไม่มีความเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาดกับหน่วยงานที่ขอรับทุนจัดทำโครงการ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน จนนำมาซึ่งกระบวนการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรม เพราะคนพิจารณาก็มีส่วนได้เสีย มีการชักจูงให้การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แทนที่จะเป็นคนพิจารณาตรวจสอบ กลับกลายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น เอามูลนิธิของตัวเองเข้ามารับงบไปทำโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ดังนั้นต้องมีการปรับแก้

“บรรดามูลนิธิต่างๆ ให้เกียรติกันได้ แต่หลักการควบคุมต้องไม่เป็นอย่างนั้น จะใช้ระบบเชื่อถือกัน และมายกเว้นในหลักการเรื่องความโปร่งใส และประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้ ซึ่งเท่าที่เก็บสถิติพบว่ามีลักษณะอย่างนี้เยอะเหมือนกัน ที่กรรมการบริหารเอามูลนิธิของตัวเองมาทำโครงการ อาจจะเป็นเพราะมีความเชี่ยวชาญด้านนี้ และเชื่อว่ามูลนิธิของตัวเองสามารถทำประโยชน์ได้ แต่ในหลักการจริงๆ ระบบควบคุมจะไม่ดี และตามที่ตรวจสอบยังพบว่ามีเงินค้างท่อเยอะมาก ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเอาเงินทั้งหมดมาเข้าคลัง แล้ว สสส. พิจารณาโครงการ แล้วขอเงินแทนโครงการต่างๆ โดยผ่านสภาก่อน และรับไปเท่าที่ศักยภาพมี ไม่ใช่ขอไปเยอะจนเกิดการติดลบ มีการทำงบประมาณเกินดุลอยู่เรื่อย” นายพิศิษฐ์ กล่าว และว่า ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการริบทรัพย์ หรือจ้องเอาเงินของใคร แต่เป็นการนำเข้ากระบวนการที่เหมาะสมมากกว่า เพราะโครงการของ สสส.เยอะมาก ต้องประเมินผลลัพธ์ให้ดีว่าเกิดประโยชน์กับประชาชนมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่อ้อมมาก

ผู้สื่อข่าวถามถึงการตรวจสอบเรื่องการให้งบฯ แก่สถาบันอิศรา ซึ่งมีการอธิบายว่าเรื่องการเมืองต่างๆ ก็มีผลเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพเช่นเดียวกัน ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่สังคมต้องคิดเองได้เลย ไม่จำเป็นต้องให้หน่วยงานตรวจสอบเป็นผู้วิจารณ์ ประชาชนลองพิจารณาดู การอ้างเรื่องสุขภาพนั้นสามารถอ้างได้เสมอ แต่ต้องดูว่าสมเหตุผลหรือไม่ แม้กระทั่งเรื่องสวดมนต์ข้ามปี ดูเหมือนเป็นประโยชน์ที่มี 1 วันที่ไม่เมา แต่ไปสวดมนต์แทนการดื่มเหล้าแล้วเกิดอุบัติเหตุ แต่มีการใช้งบฯ ตั้ง 33 ล้านบาท แล้วถามว่าปัญหาขับรถ แล้วชนกันลดลงหรือไม่ ส่วนกรณีที่มีการท้วงติงว่าถ้าเข้าสู่ระบบการบริหารงบของภาครัฐแล้วยุ่งยากนั้น เป็นเรื่องที่คิดกันไปเอง เนื่องจากเคยได้รับอะไรมาง่ายๆ จึงต้องการแต่แบบนั้น.

ที่มา: http://www.dailynews.co.th