ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.เผยผลการศึกษาในปี 2557 พบรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุ 61 ครั้ง บาดเจ็บ 130 คน เสียชีวิต 19 คน สาเหตุจากคนขับและรถไม่พร้อม เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอบรมพนักงานขับรถพยาบาล คุมความเร็วรถ ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง เพิ่มการติดตั้งสัญญาณเตือนจุดเสี่ยง ติดไฟจราจรชนิดบอกตัวเลขถอยหลัง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนหลีกทางให้รถพยาบาล

นายธีระ ศิริสมุด นักวิชาการจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นำเสนอผลการศึกษาสถานการณ์และปัจจัยเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งปฏิบัติภารกิจแข่งกับเวลาเพื่อยื้อชีวิตผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บ ว่า ในปี 2557 รถพยาบาลทั้งรถตู้ รถกระบะดัดแปลงเกิดอุบัติเหตุ 61 ครั้ง บาดเจ็บ 130 คน เสียชีวิต 19 คน พบมากในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม รวม 25 ครั้ง ส่วนใหญ่เกิดระหว่างนำคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล 46 ครั้ง จังหวัดที่พบมาก 5 อันดับแรกได้แก่ ขอนแก่น ระยอง เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และเพชรบูรณ์ เฉลี่ยในภาพรวมประเทศ มีอัตราเกิด 0.39 ครั้งต่อรถพยาบาล 100 คัน

นายธีระ กล่าวต่อว่า จากการวิเคราะห์พบสาเหตุที่อาจทำให้รถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานมาจาก 4 สาเหตุ ได้แก่ 

1.ความไม่พร้อมทำงานของคนขับรถ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ไม่เคยผ่านหลักสูตรอบรมอาสาสมัครฉุกเฉินทางการแพทย์ และหลักสูตรขับรถพยาบาล รวมทั้งมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ใช้ความเร็วสูงขณะขับ มากกว่าครึ่งเกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บางคันเร็วกว่า 120กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับเข้าทางโค้งด้วยความเร็วค่อนข้างมาก ส่วนผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 

2.ความไม่พร้อมของรถพยาบาล เช่น สภาพเก่า ขาดการตรวจสภาพ ไม่ติดตั้งจีพีเอส อุปกรณ์ภายในห้องโดยสารมีส่วนยื่นออกมาเป็นเหลี่ยม ตะขอ ทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนัก

3.ปัจจัยจากกายภาพ ส่วนใหญ่เกิดบนถนนสายหลักเลนคู่ นอกชุมชน 

4.ปัจจัยด้านสังคม กฎระเบียบ ขนบธรรมเนียม เช่น มีการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร มีการปิดช่องจราจร โดยไม่มีป้ายแจ้งเตือน ประชาชนไม่หลีกทางให้รถพยาบาล เป็นต้น 

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาและป้องกัน ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น จัดหลักสูตรอบรมการขับรถพยาบาล ให้พนักงานทั้งในภาครัฐเอกชน ท้องถิ่น ทำประกันภัยรถ ปรับปรุงความพร้อมรถพยาบาล อาทิ การติดตั้งระบบจีพีเอส เพื่อตรวจสอบพิกัดของรถพยาบาล และมีสัญญาณเตือนหากขับเร็วเกินกว่ากำหนด จำกัดความเร็วของรถพยาบาลไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และลดความเร็วน้อยกว่า 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กรณีทางโค้ง ถนนมีปัญหา ติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งในรถยนต์ และมีสัญญาณไฟเตือนเมื่อผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัย   

นอกจากนี้ ต้องประชาสัมพันธ์ผู้ใช้รถใช้ถนนทั่วไปหลีกทางให้รถพยาบาล เพิ่มมาตรการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎจราจร และเพิ่มสัญลักษณ์หรือสัญญาณต่างๆ ในจุดเสี่ยง เช่น บริเวณชุมชน สี่แยก จุดที่มีการก่อสร้าง ทางลาดชัน ทางโค้งเป็นต้น และเสนอให้ติดตั้งสัญญาณไฟตามแยกต่างๆ ชนิดเป็นตัวเลขนับเวลาถอยหลัง เพื่อให้ผู้ขับรถรู้เวลาการเปลี่ยนสัญญาณชัดเจนขึ้น