ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประชาชนกว่า 400 คน จี้ผู้ว่าฯ กทม.ยกระดับศูนย์สาธารณสุขเป็น รพ.ชุมชน กระจายสถานพยาบาลให้คน กทม.เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ชี้พื้นที่กรุงเทพฯ มีปัญหาสถานพยาบาลกระจุกตัว ซ้ำมีปัญหาแออัด รอคิวนาน พร้อมผลักให้มีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ระบุ กทม.เป็นพื้นที่เดียวในไทยที่ยังไม่มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นที่

เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตพื้นที่ กทม.และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน พร้อมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครกว่า 400 คน รวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้มีการยกระดับศูนย์สาธารณสุขที่มีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนในทุกเขต ให้มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในพื้นที่ กทม.อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคน กทม.พร้อมดูแลประชาชนที่ไม่มีเลข 13 หลักหรือไม่สามารถยืนยันสิทธิได้

นางชุลีพร ด้วงฉิม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ซึ่งอาศัยในเขตพื้นที่คลองสามวาสะท้อนปัญหาว่า กทม.ยังไม่มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นที่ ที่เป็นการสมทบงบประมาณเหมาจ่าย 45 บาทต่อหัวประชากร สมทบร่วมกับท้องถิ่น และบริหารโดยคณะกรรมการกองทุนฯ มีกลไกกรรมการที่มีส่วนร่วมจากทุกภาพส่วน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค

“น่าเสียดายว่ากว่า 10 ปีที่มีกองทุนฯ ที่ปัจจุบันครอบคลุมแล้วในทุกพื้นที่กว่า 4 พันกองทุน กทม.เป็นพื้นที่เดียวที่ยังไม่มีกองทุนฯ มาทำงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้คน กทม.” นางชุลีพร กล่าว

นายณัชพล เกิดเกษม จากเขตลาดกระบัง กล่าวว่า เขตลาดกระบังเป็นพื้นที่ขยายและมีคนต่างด้าวอาศัยอยู่มาก แต่มีโรงพยาบาลรองรับน้อย ควรยกระดับศูนย์สาธารณสุขให้เป็นโรงพยาบาล ซึ่งศูนย์สาธารณสุขบางที่ก็เป็นปฐมภูมิบางที่ก็ไม่เป็นปฐมภูมิ

“เราคนไทยในกรุงเทพมหานครเองเราขาดโอกาส เรื่อง สปสช.ที่เป็นเรื่องใกล้บ้านใกล้ใจ จริงๆ มันไม่จริง เราอยู่ลาดกระบังต้องไปรักษาถึงคลองตัน มันไม่ใช่ มันไม่สามารถดูแลได้อย่างถ้วงทัน อาจตายก่อนกลางทางได้” นายณัชพล กล่าว

นายชูชาติ สุกันต์ เขตธนบุรีเหนือ กล่าวถึงกรณีการถูกย้ายสิทธิจากเดิมในพื้นที่ไปอยู่โรงพยาบาลที่ไกลจากบ้านว่า “คนฝั่งธนส่วนมากโดนย้ายสิทธจากบางพลัดไปอยู่เกือบนครชัยศรี ตอนย้ายสิทธิศูนย์ สธ.ใกล้บ้านก็มี ทำไมไม่ทำแบบวชิระพยาบาล ให้อยู่ รพ.ใกล้ใจ ให้ดูจากทะเบียนราษฎร์”

นายธเนศร์ จรโนทัย แกนนำคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่เขาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักประกันสุขภาพ เพราะขาดการติดต่อกับทะเบียนทำให้ไร้สถานะทางทะเบียนและทำให้ยากต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาล เพราะว่าแสดงเลข 13 หลักไม่ได้

“เสนอช่องทางว่า อาจจะเป็นอนามัยสักที่หนึ่งสักแห่งหนึ่งหรือโรงพยาบาลของ กทม.ที่จะเปิดช่องทางให้คนที่ไม่มีเลข 13 หลัก เสนอไปหลายที่แต่รอ ในทางปฏิบัติเรายาก และพี่น้องส่วนใหญ่ไม่อยากจะไป ซักถามมากก็ไปนอนตายข้างถนนดีกว่า” ตัวแทนคนไร้บ้านกล่าว

นายสมชาย กระจ่างแสง อนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ (คอบช.ด้านบริการสุขภาพ) กล่าวว่า จากการติดตามเรื่องสุขภาพพบว่าคนกรุงเทพฯ เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่แต่ไม่มีหน่วยบริการใกล้บ้าน จึงเสนอให้ กทม.เพิ่มหน่วยบริการใกล้บ้าน หรือทำให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลชุมชน และงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่หายไป ขอให้กรุงเทพมหานครทำเสียที

“เสียงตอบรับจากรองผู้ว่ายังไม่ดี เพราะติดระเบียบความเป็นกรุงเทพมหานคร แต่ที่สำคัญคือ กทม.จะทำอย่างไร เพราะหากทำจริง กทม.ต้องร่วมสมทบกับ สปสช.ซึ่งเรื่องนี้เราต้องกระตุ้นเรื่อยๆ การมีกองทุนส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย” นายสมชาย กล่าว

ด้าน นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานครมีนโยบายให้ศูนย์สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ กทม.ทำเป็นซุปเปอร์คลินิกเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาล แต่ข้อเสนอให้ยกระดับศูนย์สาธารณสุขเป็นโรงพยาบาลชุมชนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีเพดานในการใช้งบประมาณไม่เกิน 40% ในการบริหารจัดการบุคลากร

“ไม่ใช่ทุกศูนย์จะทำได้ เราทำได้บางศูนย์ เพราะที่ไม่ใช่ของเรา เกิน 20-30 ศูนย์ไม่ใช่ที่ของเรา” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นางผุสดี กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันยังได้มีการการสร้างชุมชนสุขภาวะยั่งยืน โดยร่วมกับชุมชน 50 ชุมชนต้นแบบจาก 50 เขตโดยให้คนในชุมชนช่วยกันคิดมองปัญหาในชุมชน โดย กทม.จะจัดสรรเงินส่วนหนึ่ง

นางวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความต่างระหว่าง รพ.สต.กับ ศูนย์บริการสาธารณสุขว่า รพ.สต.มีเพียง นักวิชาการ พยาบาล เจ้าหน้าที่ไม่กี่คน ขณะที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.มีครบทุกวิชาการที่ให้บริการ

“ภายใต้ข้อจำกัดมีหมอ 1-3 คน พยาบาล 5-6 คน การเป็นโรงพยาบาลต้องมีมากกว่านี้ ในข้อเท็จจริงของการดูแลสุขภาพ 70% ของประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพสามารถดูแลได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข” ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ประธานมูลลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นแผนระยะยาวของ กทม. และขอปฏิเสธซุปเปอร์คลินิก แต่ต้องการให้ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นเหมือนโรงพยาบาลชุมชน

“คุณไม่ต้องสร้าง 400 เตียงไว้ไม่กี่แห่งหรอก แต่ขอให้มีศูนย์สาธารณสุขอยู่ทุกเขต” ประธานมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มาข่าว : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค