ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมเข้าสู่อาเซียนภายหลัง ปี 2558 กำหนดวาระพัฒนาด้านสาธารณสุข 4  ด้าน คือ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี โต้ตอบและรับมือกับภัยคุกคาม เข้าถึงการดูแลสุขภาพ อาหารและน้ำปลอดภัย เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

วันนี้ (30 ตุลาคม 2558) ที่ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเภสัชกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 8 พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “บูรณาการระบบสุขภาพ ภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมแก่เภสัชกรทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข เตรียมความพร้อมในการรองรับการเปิดเสรีอาเซียน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ ซึ่งมีกรอบการพัฒนาที่เชื่อมโยงตั้งแต่สุขภาพโลก ระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศ และระดับประเทศ โดยในระดับภูมิภาคมีวาระการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประชาคมอาเซียน ภายหลัง ปี 2558 มี  4 ด้าน คือ 

1.ส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ควบคุมป้องกันโรคติดต่อ/ไม่ติดต่อ การบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ อุบัติเหตุ สุขภาพจากการประกอบอาชีพ สุขภาพจิต ผู้สูงอายุ โภชนาการที่ดี

2.การโต้ตอบและรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ เช่น การระบาดของโรคติดต่อทั่วไป โรคติดต่ออุบัติใหม่ ภัยพิบัติด้านสุขภาพ ผลกระทบจากอนามัยสิ่งแวดล้อม

3.การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ย้ายถิ่น การแพทย์ดั้งเดิม

4.ความปลอดภัยทางด้านอาหาร รวมถึงน้ำและสุขาภิบาล 

นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งในภูมิภาคและในประชาคมโลก มุ่งมั่นให้คนไทยมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น ตั้งเป้าสุขภาพคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า 80 ปี และมีอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 72 ปี เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 6 ข้อ ให้สอดคล้องกับวาระการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประชาคมอาเซียน ได้แก่

1.การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อข้ามพรมแดน

2.การส่งเสริมสินค้า บริการ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การนวดไทย

3.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามจุดที่สมควรหรือเมืองบริการสุขภาพ

4.การพัฒนาสุขภาพประชากรต่างด้าวและสาธารณสุขชายแดน

5.การพัฒนาระบบการบริการจัดการด้านสาธารณสุขอาเซียน

6.ความร่วมมือทางวิชาการภายใต้กลไกอาเซียน เพื่อรองรับประชากรต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าออกภายในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม วาระการพัฒนาด้านสาธารณสุขของประชาคมอาเซียนและยุทธศาสตร์ดังกล่าว ล้วนสอดคล้องกับผลการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น เกาหลี) ครั้งที่ 6 และการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน-จีน ครั้งที่ 5 ที่ กรุงฮานอย ที่เน้นให้ประชาคมอาเซียนมีความยั่งยืน มีอาหารและสุขภาพที่ดี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน ได้รับอาหารที่ปลอดภัย ดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดี ด้วยการพัฒนาอย่างครอบคลุมและยั่งยืน