ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : ดัชนีคุณภาพการตาย (Quality of Death Index) โดยEconomist Intelligence Unit: EIU ซึ่งจัดอันดับการรักษาประคับประคองของแต่ละประเทศทั่วโลกได้ประเมินให้สหราชอาณาจักรครองอันดับหนึ่งในปี 2558 และนับเป็นครั้งที่สองติดต่อกันนับจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2553 ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากนโยบายระดับชาติที่ครอบคลุมการบูรณาการการรักษาประคับประคองไว้ในบริการของเอ็นเอชเอส (National Health Service: NHS) อันเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนการบริการและความผูกพันกับชุมชน

กระนั้นที่ผ่านมายังคงมีข่าวอื้อฉาวหลายกรณีถึงความบกพร่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งเหตุผู้ป่วยสูงอายุหลายร้อยคนเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรที่โรงพยาบาลมิด-สแตฟฟอร์ดเชียร์ หรือแนวทางปฏิบัติลิเวอร์พูลแคร์พาธเวย์ซึ่งตั้งต้นมาด้วยเป้าหมายส่งเสริมคุณภาพลมหายใจในช่วงสุดท้ายของผู้ป่วยก่อนจะกลายเป็นแนวทางปฏิบัติแบบกล่องกาเครื่องหมายซึ่งบุคลากรเน้นการปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติแทนที่จะให้การดูแลที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังพบปัญหาการว่าจ้างดูแลผู้สูงอายุด้วยสัญญาค่าแรงต่ำซึ่งทำให้บุคลากรไม่มีเวลาเพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่นอกเหนือจากภาระการดูแลพื้นฐานจนนำมาสู่เสียงร้องเรียนหนาหูถึงคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิต 

แม้โฆษกอีไอยูชี้ว่า สหราชอาณาจักรยังคงมีปัญหาที่รอการแก้ไข  เช่น “การแก้ปัญหาการสื่อสารที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวหรือการควบคุมอาการ” แต่ผู้เขียนและคณะก็เชื่อว่าปัญหาแท้จริงไม่ใช่เรื่องผิวเผินดังที่คิดกัน

อันที่จริงแล้วการดูแลแบบประคับประคองของสหราชอาณาจักรซึ่งเน้นการดูแลแบบองค์รวมทั้งกาย จิต และจิตวิญญาณนั้นมีคุณภาพสูงอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการดูแลดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ขณะที่การเสียชีวิตในคนชราที่สุขภาพเปราะบางนั้นส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้ารวมถึงโรคสมองเสื่อม จึงเป็นเหตุให้รูปแบบการเสียชีวิตแตกต่างกันมากและมักสะท้อนในกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้กำลังจะเสียชีวิตจากมะเร็งยังคงมองการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของสหราชอาณาจักรในแง่ลบโดยไม่คำนึงว่าคุณภาพของบริการนั้นสูงเยี่ยมเพียงใด และจากการสังเกตยังพบด้วยว่า อีไอยูเปรียบเทียบบริการดูแลประคับประคองของสหราชอาณาจักรกับประเทศอื่นโดยนับจำนวนแพทย์และพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แต่ไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่นำไปสู่การจบชีวิตอย่างน่าเวทนา

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ชัดว่ายังคงมีช่องว่างระหว่างการให้บริการดูแลแบบประคับประคองและความต้องการของผู้ป่วยจำนวนมากในสหราชอาณาจักร และสะท้อนอยู่ในทัศนคติต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งในประเด็นนี้รายงานฉบับล่าสุดโดยผู้เขียนและคณะได้ชี้ให้เห็นผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจากการกำหนดคำนิยาม รวมถึงนโยบายที่นำไปสู่ข้อบกพร่องด้านคุณภาพการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ดูแลด้วยใจหรือให้ทางเลือก

แผนการดูแลผู้ป่วยในวาระสุดท้ายปี 2551 ของรัฐบาลอังกฤษได้ระบุคำว่า “ทางเลือก” โดยอนุมานว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องปรึกษาความประสงค์ร่วมกับครอบครัวและแพทย์เพื่อที่จะกำหนดรูปแบบการตายตามที่พึงพอใจ อย่างไรก็ดีแผนการดูแลดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายซึ่งผู้ป่วยมักสมบูรณ์พร้อมทั้งสติสัมปชัญญะและศักยภาพการสื่อสาร ทั้งการตายเองก็สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนในช่วงเวลาไม่กี่เดือน แตกต่างจากในผู้ป่วยไม้ใกล้ฝั่งซึ่งมักมีข้อจำกัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ความสัมพันธ์กับญาติ ตลอดจนระบบการบริการสุขภาพซึ่งไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ป่วยหรือกระทั่งในหมู่บุคลากรด้วยกันเอง

เรื่องอื้อฉาวของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแดงขึ้นคล้อยหลังการประกาศแผนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเห็นได้ว่าผู้ป่วยนั้นนอกจากจะไม่สามารถเลือกรูปแบบการตายตามที่ตนต้องการแล้วยังได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพต่ำ ขณะที่ “การดูแล” ก็กลายเป็นสินค้าสำหรับซื้อขายและส่งมอบ แทนที่จะเป็นความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้การดูแลและผู้ได้รับการรักษา และก็ใช่ว่าแพคเกจ “การดูแลร่างกาย” นี้จะมีคุณภาพดีเสมอไป ดังที่พบกรณีผู้ป่วยไม่ได้รับอาหารหรือเครื่องดื่ม กระทั่งไม่มีแม้แต่คนคอยพาไปห้องน้ำหรือพลิกตัวให้ เมื่อเกิดข่าวฉาวโฉ่ขึ้นมาแล้วจึงเริ่มมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ในวงการสาธารณสุข ซึ่งทั้งสื่อและนักการเมือง ก็เริ่มพูดกันถึงความจำเป็นสำหรับ “การดูแลด้วยความเอาใจใส่” ซึ่งหมายถึงการดูแลบุคคลโดยไม่จำกัดเฉพาะการดูแลด้านร่างกายเท่านั้น

เติมเต็มช่องโหว่

หาก “ทางเลือก” เป็นการปลุกปั้นโดยนักการตลาดบริการดูแลสุขภาพ “ความเอาใจใส่” ก็น่าจะเรียกว่าเป็นความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงของเอ็นเอชเอสและการดูแลด้านสังคม หลังเกิดเรื่องอื้อฉาวที่โรงพยาบาลมิด-สแตฟฟอร์ดเชียร์ก็ยังคงมีความพยายามส่งเสริม “ทางเลือก” ในฐานะกุญแจที่จะนำไปสู่การตายอย่างมีความสุข ขณะที่อีกด้านหนึ่งสื่อ ราชวิทยาลัยการพยาบาล และเซอร์โรเบิร์ต ฟรานซิส ซึ่งได้รับแต่งตั้งสอบสวนกรณีโรงพยาบาลมิด-สแตฟฟอร์ดเชียร์กลับชี้ตรงกันไปที่ “ความเอาใจใส่”

หลายปีมาแล้วที่ “การดูแลด้วยความเอาใจใส่” และ “ทางเลือก” เดินอยู่บนทางคู่ขนานซึ่งแทบไม่บรรจบกัน แต่รายงานทบทวนทางเลือกการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิตประจำปี 2558 โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลแบบประคับประคองก็ยอมรับในที่สุดว่า “การดูแลที่ดีนั้นจำเป็นต้องครอบคลุมทางเลือก และทางเลือกจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่ออยู่บนพื้นฐานการดูแลที่ดี”

แนวทางการดูแลทั้งแบบ “ทางเลือก” และ “ความเอาใจใส่” ต่างก็มีข้อจำกัดและอุปสรรคเมื่อพิจารณาในแง่การดูแลคนชราที่กำลังจะถึงวาระสุดท้าย และจนถึงขณะนี้เราก็ยังคงควานไม่พบทางสายกลางเพราะการขยายการดูแลแบบประคับประคองจากโรคมะเร็งไปยังภาวะอื่นนั้น จำเป็นที่จะต้องทบทวนความหมายของทางเลือกและการดูแลเสียใหม่    ซึ่งความท้าทายที่รออยู่นั้นก็หนักหนาเกินกว่า “การแก้ปัญหาการสื่อสารที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว”

ขอบคุณที่มา : www.theconversation.com

เกี่ยวกับผู้เขียน

โทนี วอลเตอร์ ศาสตร์จารย์ด้าน Death Studies จากมหาวิทยาลัยบาธ

เอรีก้า บอร์คสตอร์ม นักวิจัยจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง