ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. แจงงบบริการการแพทย์แผนไทย ปี 59 เพิ่มจาก 8.19 บาทต่อประชากร เป็น 10.77 บาทต่อประชากร มีประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มมากขึ้นปีล่าสุดได้รับบริการ 8.3 ล้านครั้ง ด้านอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเผยยุทธศาสตร์การแพทย์แผนไทยร่วมกับ สปสช.เพิ่มศักยภาพบริการแพทย์แผนไทยควบคู่บริการสาธารณสุข กระจายไปยังหน่วยบริการทุกระดับ เน้นให้บริการการแพทย์แผนไทยที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ

นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือการดูแลคนไทยทุกคนที่มีสิทธิให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง รวมถึงให้การรักษาที่ครอบคลุม ดังนั้นนอกจากการเข้าถึงการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว สปสช. ยังมีนโยบายสนับสนุนการเข้าถึงบริการการแพทย์แผนไทย จึงได้เริ่มจัดสรร “งบบริการการแพทย์แผนไทย” ขึ้น ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วยในระบบ และยังสนับสนุนการแพทย์แผนไทยให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในปี 2559 นี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้อนุมัติงบบริการการแพทย์แผนไทยเพิ่มจาก 8.19 บาท/ต่อประชากร เป็น 10.77 บาท/ต่อประชากร หรือ 525,435,990 บาทต่อปี โดยจัดสรรให้เพิ่มเติม (On Top) เฉพาะหน่วยบริการสาธารณสุขที่ให้บริการการแพทย์แผนไทย ขณะที่จำนวนประชาชนที่เข้ารับบริการการแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้น จาก 510,751 คน/1,209,522 ครั้ง ในปี 2553 เพิ่มเป็น 5,968,525 คน/8,296,057 ครั้ง ในปี 2558 (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2558) โดยผู้รับบริการฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอดเพิ่มขึ้น จาก 1,701 คน/6,909 ครั้ง ในปี 2553 เพิ่มเป็น 26,667 คน/98,473 ครั้ง ในปี 2558 (ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2558)

ด้าน นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การดำเนินงานเพื่อส่งเสริมแพทย์แผนไทยร่วมกับ สปสช. นั้น ได้ยึดตามยุทธศาสตร์แผนงานแพทย์แผนไทยและสมุนไพร ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจัดทำขึ้นอย่างมีส่วนร่วม เน้นการเพิ่มศักยภาพบริการแพทย์แผนไทยควบคู่กับการบริการสาธารณสุข โดยกระจายไปยังหน่วยบริการทุกระดับ ให้บริการแพทย์แผนไทยที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ และเน้นความเข้มแข็งของสถานพยาบาลที่ให้บริการแพทย์แผนไทยทุกระดับ โดยปี 2557 มีสถานพยาบาลที่บริการแพทย์แผนไทยและมีแพทย์แผนไทยประจำ 606 แห่ง

ทั้งนี้สิทธิประโยชน์บริการการแพทย์แผนไทย ได้แก่ บริการเวชกรรมไทย การใช้ยาจากสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ การบริการนวด ประคบ อบสมุนไพรเพื่อการรักษาและฟื้นฟูสภาพแก่ผู้ป่วย และการฟื้นฟูสุขภาพมารดาหลังคลอดตามแนวเวชปฏิบัติด้านการแพทย์แผนไทย ทั้งการรับบริการในหน่วยบริการ และการบริการเชิงรุกในชุมชน