ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรณีร่าง พ.ร.บ.เซลล์ทางการแพทย์ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่ได้นำเสนอต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการไปแล้ว (ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ และมีการทักท้วงและคัดค้านจากหลายฝ่าย อาทิ แพทยสภา กรมการแพทย์ ฯลฯ แต่ก็มีการนำเสนอร่างกฎหมายต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยละเว้นคำคัดค้านจากมติคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่อย่างเป็นทางการที่ให้ชะลอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไป เนื่องจากขัดหลักสากล) ทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าใจว่าร่าง พ.ร.บ. เซลล์ทางการแพทย์ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วจะต้องคำนึงถึงมติคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ซึ่งเป็นความเห็นของหน่วยงานควบคุมวิชาชีพเวชกรรมที่สำคัญที่สุด เพราะร่าง พ.ร.บ. เซลล์ทางการแพทย์ คือ กฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์อย่างชัดเจน

ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ

ดังนั้น ผู้ยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.เซลล์ทางการแพทย์เพื่อควบคุมวิชาชีพเวชกรรม จะต้องให้เกียรติและเคารพต่อมติคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ที่เป็นผู้เเทนของแพทย์ทั่วประเทศกว่า 50,000 คน ซึ่งคณะกรรมการแพทยสภาชุดใหญ่ดังกล่าวประกอบด้วยคณบดี คณะแพทยศาสตร์จากทุกสถาบันทั่วประเทศ เจ้ากรมแพทย์ทุกเหล่าทัพ และกรรมการ แพทยสภาที่มาจากการเลือกตั้งกว่า 50 ท่าน

นอกจากนี้การออกกฎหมายควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยกำหนดโทษรุนแรงกับแพทย์ เช่น จำคุกและปรับหนัก จะส่งผลให้เเพทย์ที่ประกอบวิชาชีพเวชกรรมถึงขั้นหมดอนาคต นอกจากนี้การบัญญัติกฎหมายนี้ให้มีอำนาจเหนือกฎหมายแพทยสภาจึงเป็นเรื่องร้ายแรง มีความเสี่ยงที่อาจทำให้เเพทย์ทั่วประเทศลุกฮือขึ้นต่อต้านและสร้างความแตกแยกไปทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. เซลล์ทางการแพทย์ฉบับสุดท้ายมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากร่าง ฉบับที่ 5 โดยมีการตัดบางประเด็นที่ไม่สำคัญออกไป ซึ่งผู้เขียนเคยทำการวิเคราะห์ร่างฯ ฉบับที่ 5 ให้กับกรมการแพทย์เเละแพทยสภาไว้อย่างละเอียดมาแล้วอย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ยังคงมีข้อผิดพลาดในส่วนที่สำคัญที่สุด

กล่าวคือ นิยามกฎหมายผิดพลาดสับสนในเรื่องการแบ่งประเภทการใช้เซลล์ในทางการแพทย์ ซึ่งผิดหลักการสากลโดยสิ้นเชิง เพราะไปนำหลักการมาจากงานวิจัยเซลล์เเบบพื้นฐานมาใช้เเบ่งกลุ่มการใช้เซลล์รักษาโรคในผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นคนละเรื่องกันและเป็นวิธีคิดที่ต่างกัน

ร่าง พ.ร.บ.เซลล์ทางการแพทย์ดังกล่าวนี้แบ่งกลุ่มการใช้เซลล์ในการรักษาโรค ตามแหล่งที่มาของเซลล์ เช่น เซลล์มนุษย์ เซลล์สัตว์ เซลล์พืช หรือสเต็มเซลล์ตัวอ่อน มนุษย์ ซึ่งการแบ่งลักษณะนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถใช้ในควบคุมการรักษาโรคทางการแพทย์ด้วยเซลล์ได้ จึงไม่มีประเทศใดนำระบบนี้มาใช้ในระบบควบคุมสุขภาพแม้เเต่ประเทศเดียว

การให้นิยามกฎหมายที่ผิดพลาด ทำให้สาระควบคุมของกฎหมายที่บัญญติตามหลังเกิดความผิดพลาดทั้งหมด แบบที่เรียกง่ายๆ ว่าไปไม่ถูกทาง ต้องประกาศแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ หากมีผลบังคับใช้จะส่งผลกระทบและสร้างความสับสนต่อระบบควบคุมสุขภาพของประเทศร้ายแรงอย่างไม่มีมาก่อน เพราะอาจทำให้วงการแพทย์ต้องแตกแยกเป็น 2 ส่วนจากกฎหมายฉบับนี้ คือ แพทยส่วนหนึ่งอยู่ในการควบคุมของแพทยสภา ในขณะที่แพทย์อีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ใช้เซลล์ในการรักษาตกอยู่ในการควบคุมของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ในขณะเดียวกันกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็กลายเป็นผู้มีอำนาจควบคุมสูงสุดแต่เพียงผู้เดียว เพราะมีอำนาจควบคุมทั้งเเพทย์ สถานพยาบาล และผลิตภัณฑ์เซลล์ (แฝงอยู่ในเซลล์พืช เซลล์สัตว์) ซึ่งในนามของคณะกรรมการเซลล์ทางการแพทย์ถือ เป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบบควบคุมสุขภาพอย่างยิ่ง เพราะหากเกิดความผิดพลาดของระบบควบคุมขึ้นในหน่วยงานเดียวที่รวบอำนาจไว้ จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ประชาชนจำนวนมากอาจเจ็บป่วยล้มตายจากระบบควบคุมที่ผิดพลาดได้ ดังนั้น ในระบบควบคุมสุขภาพสากลจึงห้ามมิให้มีการรวบอำนาจไว้ในหน่วยงานเดียวโดยเด็ดขาด เพราะไม่มีหน่วยงานถ่วงดุลตรวจสอบ นอกจากนี้หากระบบควบคุมด้วยหน่วยงานเดียวผิดพลาดจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนทั่วประเทศพร้อมกันทันที

การให้นิยามศัพท์กฎหมายผิดพลาด ทำให้ ร่าง พ.ร.บ.เซลล์ทางการแพทย์มองไม่เห็นหมวดหมู่ควบคุมการใช้เซลล์ในการรักษาผู้ป่วยตามระบบสากล หมวดควบคุมในบัญญัติกฎหมายดังกล่าวจึงไม่สามารถนำนิยามศัพท์มาใช้ประโยชน์แบ่งหมวดหมู่และระดับการควบคุมได้อย่างเป็นระบบสากล จึงใช้วิธีแบบง่ายๆ สำหรับงานควบคุมทั่วไป มาควบคุมแทนระบบควบคุมเซลล์สากลที่สลับซับซ้อน คือ บังคับให้ขึ้นทะเบียนให้หมดทุกประเภท ทั้งแพทย์ สถานพยาบาล ผลิตภัณฑ์เซลล์ (ซึ่งแฝงอยู่ในหมวดเซลล์พืช เซลล์สัตว์) และใช้วิธีง่ายๆ ในการควบคุม คือ ออกประกาศกฎหมายบังคับ ห้ามทำ  หรืออนุญาตให้ทำ ซึ่งตามความเห็นของคณะกรรมการเซลล์ทางการแพทย์เป็นผู้กำหนด ถือเป็นการลิดรอนสิทธิ ในการรักษาโรคของแพทยทั่วประเทศในอนาคตด้วยวิธีแบบขวานผ่าซาก คือ ข้อบ่งชี้การรักษาโรคด้วยเซลล์จะถูกประกาศบังคับโดยกฎหมายเป็นกรณีๆ ไป เป็นเรื่องที่ไม่มีประเทศใดทำกัน

นับเป็นความล้มเหลวของหน่วยงานภาครัฐที่ร่างกฎหมายสับสนในเรื่องหลักการและปรัชญาการควบคุม ซ้ำเติมปัญหาให้กับประเทศไทย เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้มีอำนาจไม่ได้ทำความเข้าใจถึงตรรกะการควบคุมระบบสุขภาพสากลอย่างเเท้จริง จึงไม่สามารถผลักดันการพัฒนาประเทศให้ถูกต้องตามหลักสากล หากต้องการควบคุมการรักษาโรคด้วยเซลล์ใหม่ ความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามแบบสากลอารยะประเทศก็ควรทำการศึกษาว่าประเทศอื่นในโลกนี้ที่พัฒนาระบบดีแล้วเขาทำกันอย่างไร ไม่ใช่นึกคิดจินตนาการระบบขึ้นเอง

ประเทศไม่ใช่ของเล่นที่จะทดสอบความคิดของใคร ควรศึกษาให้มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เเตกฉานถึงปรัชญา ตรรกะควบคุมอย่างรอบคอบและดำเนินการด้วยความระมดัระวังที่สุด ไม่ใช่มุ่งแต่จะลงโทษ เพราะหลักการของกฎหมาย สุขภาพคือกฎหมายควบคุมให้ถูกทิศทาง ไม่ใช่กฎหมายอาญา แม้ระบบกฎหมายแต่ละประเทศจะต่างกัน กฎหมายไม่เหมือนกัน แต่หลักการสำคัญ ตรรกะ วิธีคิดเป็นเรื่องเดียวกัน และยังคงเหมือนกัน จึงควรทำการบ้านให้เข้าใจแตกฉาน ปรึกษาหารือและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางก่อนร่างกฎหมาย ประเทศจึงจะไม่ตกอยู่ในหลุมดำทางกฎหมาย

เมื่อวิเคราะหผ์ลกระทบของการบัญญัติ พ.ร.บ.เซลล์ทางการแพทย์ในรายละเอียดเชิงลึก แม้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการแก้ปัญหาการใชเซลล์รักษาโรคในประเทศไทยก็ตาม แต่กฎหมายมีข้อผิดพลาดร้ายแรงในเชิงหลักการควบคุม หากมีผลบังคับใช้จะทำให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวงมากกว่าการใช้สเต็มเซลล์เเบบผิดๆ ในประเทศอย่างมาก

สิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำ คือ ยกร่างกฎหมายควบคุมการใช้เซลล์รักษาโรคขึ้นใหม่ให้สอดคล้องหลักการสากล ไม่ใช่เรื่องผลักดันกฎหมายที่ผิดหลักการสากลไปบังคับใช้จนเกิดผลเสียหายต่อประเทศอย่างร้ายเเรง 

จึงมีคำถามว่า การเร่งผลักดันกฎหมายดังกล่าวให้เร็วขึ้นเพียงไม่กี่เดือนจะมีประโยชน์อะไรเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้น แล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? ทำไมไม่รอให้ ร่าง พ.ร.บ.เซลล์บำบัดที่แพทยสภาเป็นเจ้าภาพดำเนินการจัดทำอยู่ให้เเล้วเสร็จเสียก่อน จึงจะนำประชาพิจารณ์เปรียบเทียบกันแล้วเลือกนำเสนอกฎหมายฉบับที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย

จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าจะรีบเร่งไปทำไม? แค่อีกเพียง 2-3 เดือน ร่าง พ.ร.บ.เซลล์บำบัดก็จะแล้วเสร็จ.

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ถนอม บรรณประเสริฐ หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่งและเสริมสร้างใบหน้า ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณภาพจาก www.shalomlife.com