ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อปสข.เขต 4 สระบุรีผ่านงบพัฒนารับส่งต่อผู้ป่วย 30 ล้านบาท หลังคณะกรรมการกลไกการเงินฯ หารือร่วมเพื่อสอดรับ Service Plan สธ. เพิ่มการเข้าถึงโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ผ่าตัดหัวใจ หนุนภาคเอกชนร่วมจัดบริการ สร้างกลไกการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังรับกลับ รพ.ต้นสังกัด หวัง รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย รับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้น เสริมระบบ Service Plan ของ สธ.

นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า การจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยเมื่อเกินศักยภาพของหน่วยบริการและการส่งกลับเพื่อดูแลต่อเนื่องนั้น จำเป็นต้องวางระบบที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยบริการแต่ละระดับ ในปัจจุบันปัญหาความไม่พร้อมของโรงพยาบาลขนาดเล็ก ปัญหาการฟ้องร้อง ทำให้มีการส่งต่อผู้ป่วยมากขึ้น เกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยบริการที่รับส่งต่อผู้ป่วย เกิดปัญหาไม่มีเตียงรับผู้ป่วย เกิดความแออัด ต้องใช้เวลาในการติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาเตียงรับผู้ป่วยนาน ส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล

ขณะที่การพัฒนาระบบรับส่งกลับผู้ป่วย เป็นมาตรการหนึ่งในการลดความแออัดของผู้ป่วยในโรงพยาบาลใหญ่ เพื่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง เพื่อการฟื้นฟู การพัฒนากลไกทางการเงินเพื่อกระตุ้นให้มีการส่งกลับ และสร้างแรงจูงใจให้สถานพยาบาลและผู้ให้บริการ ให้บริการแก่ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจต้องมีการจัดกลุ่มโรคและวิธีการจ่ายเงินด้วยวิธีใหม่แยกออกมาจากวิธีที่ใช้อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปัจจุบัน

ซึ่ง สปสช.เขต 4 สระบุรี ดำเนินการพัฒนาระบบการรับส่งต่อและรับกลับผู้ป่วย ในรูปแบบคณะกรรมการ ในชุดคณะกรรมการกำหนดกลไกทางการเงินเพื่อพัฒนาระบบการส่งกลับผู้ป่วย เครือข่ายบริการสุขภาพที่ 4 ภายใต้เขตบริการสุขภาพที่ 4 กระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้อำนวยการ รพ.สระบุรี เป็นประธานคณะกรรมการฯ และองค์ประกอบคณะกรรมการฯ ได้แก่ ผู้แทน รพศ. รพท. รพ.สังกัดมหาวิทยาลัย สสจ. ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลางตอนบน ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรีและนครนายก

โดยมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต 4 สระบุรี (อปสข.) ครั้งที่ 9/2557(ครั้งที่ 2/2558) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557 มีมติกันงบประมาณผู้ป่วยใน ซึ่งคงเหลือจาก พรบ. โดยมีการสะสมยอดมาตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จนปลายปี ซึ่งในปี 2558 มีการกันงบประมาณผู้ป่วยในไว้ภายใต้วงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้ รพ.ที่ส่งกลับและ รพ.ที่รับไว้เช่นกัน จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบส่งต่อ เขตสุขภาพที่ 4 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 ซึ่งได้อัตราส่วนการจัดสรรงบประมาณผู้ป่วยใน ที่กันไว้ 30 ล้านบาท ในอัตราส่วนการจัดสรรงบระหว่างบริการส่งกลับ : หน่วยบริการรับกลับ เท่ากับ 0.5:1 Adj.RW. เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล สนับสนุนเรื่องการ refer back และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เพิ่มการเข้าถึงบริการในโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เช่น ผ่าตัดหัวใจ ตลอดจนการดูแลหลังผ่าตัดเพื่อส่งกลับมาดูแลผู้ป่วยยังโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยจะมีการจัดสรรงบประมาณลงหน่วยบริการในเดือนธันวาคม 2558