ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เผยคนไทยมีภาวะไตเรื้อรัง ประมาณ 7.6 ล้านคน เหตุจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ส่งผลให้ป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายกว่า 70,000 คนต้องทุกข์ทรมาน รัฐบาลต้องจ่ายค่ารักษาปีละกว่า 10,000 ล้านบาท จากงานวิจัยที่กำแพงเพชรพบการเปิดคลินิกผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในโรงพยาบาลชุมชน ดูแลรักษาด้วยทีมสหวิชาชีพ ทั้งยา อาหาร ออกกำลังกายและติดตามเยี่ยมบ้าน ได้ผลดี ช่วยชะลอความเสื่อมของไตไม่ให้เข้าสู่ระยะสุดท้าย ยืดเวลาล้างไตออกไปได้ประมาณ 7 ปี ตั้งเป้าปี 59 เปิดครบทุกแห่งใน รพช. หลังครอบคลุมทุก รพศ./รพท.แล้ว

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมกันแถลงข่าว “การลดผู้ป่วยไตเรื้อรังจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ” 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้น โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงที่เป็นสาเหตุ ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรัง ขณะนี้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 7.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายประมาณกว่า 70,000 คน ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้อง สาเหตุจากโรคเบาหวานร้อยละ 40.7 ความดันโลหิตสูงร้อยละ 27.3 สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยและเสียค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือสิทธิการรักษา เช่น ค่าเดินทาง ขาดรายได้จากการหยุดงาน เป็นต้น ทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบค่ารักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท  

กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับกระบวนการในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต จนเป็นโรคไตเรื้อรัง เพื่อป้องกันและชะลอความเสื่อมของไต  ซึ่งขณะนี้มีคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปครบทุกแห่ง และในปี 2559 นี้ จะขยายให้ครอบคลุมในโรงพยาบาลชุมชน เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในสถานบริการใกล้บ้าน โดยจะดำเนินการในโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่และโรงพยาบาลชุมชนที่มีทีมสหวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ และนักกำหนดอาหารหรือนักโภชนากรพร้อมให้การดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังแบบองค์รวม 

ทั้งนี้ ได้นำรูปแบบ“คลินิกโรคไตเรื้อรัง” มาจาก “คลองขลุงโมเดล”ของ จ.กำแพงเพชร ที่บูรณาการการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วยทีมสหวิชาชีพ พบว่า ช่วยชะลอความเสื่อมของไตด้วยการรักษาที่เหมาะกับระยะความเสื่อมของไต ควบคู่กับการปรับพฤติกรรม ช่วยยืดเวลาล้างไตได้ประมาณ 7 ปี โดยที่ จ.กำแพงเพชรมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 20,000 คน มีไตวายระยะสุดท้ายต้องล้างไตประมาณร้อยละ 5 ค่าล้างไตประมาณ 200,000 บาทต่อราย/ปี เมื่อมีการดูแลในคลินิกแบบบูรณาการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการล้างไต 200 ล้านบาทต่อปี 

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้คัดกรองโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีประมาณ 53.9 ล้านคน เพื่อจัดกลุ่มดูแลประชาชนเป็น 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วย กลุ่มป่วยและมีภาวะแทรกซ้อน ในการดูแลประชาชนกลุ่มปกติและกลุ่มเสี่ยงป่วยนั้น จัดระบบการดูแลด้วยยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ.2554-2563 โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุขจะนำผลการตรวจคัดกรอง บอกให้ประชาชนทราบสถานะสุขภาพตนเอง พร้อมมาวางแผนการดูแลไม่ให้ป่วย ในกลุ่มที่ปกติเน้นให้คำแนะนำสร้างเสริมสุขภาพตามหลัก 3 อ. 2 ส. ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่และตรวจสุขภาพซ้ำปีละครั้ง ส่วนในกลุ่มเสี่ยง ให้คำปรึกษาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพป้องกันไม่ให้ป่วยติดตามตรวจเลือดและวัดความดันโลหิตทุก 6 เดือน

ส่วนกลุ่มที่ป่วยและมีภาวะแทรกซ้อน จะมีคลินิกผู้ป่วยโรคเรื้อรังคุณภาพ(NCD Clinic)เพื่อคัดกรอง และลดภาวะแทรกซ้อน 4 ต. ได้แก่ ตา ไต เท้า(ตีน) และเส้นเลือดตีบ และมีคลินิกโรคไตเรื้อรัง ดูแลภาวะแทรกซ้อนทางไตโดยเฉพาะ  โดยผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงทุกคน จะได้รับการตรวจหาระยะความเสื่อมของไต เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสม ด้วยทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ การรักษาตามมาตรฐานจากแพทย์ การตรวจวัดค่าดัชนีมวลกาย วัดรอบเอว จากพยาบาล วิธีการใช้ยา ปรับยา จากเภสัชกร แนะนำการออกกำลังกายจากนักกายภาพบำบัด แนะนำอาหารสำหรับโรคไต อาหารโปรตีนต่ำ อาหารลดเค็มจากโภชนากรหรือนักกำหนดอาหาร  นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายเยี่ยมบ้านหรือทีมรักไต ประกอบด้วย พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข ออกไปวัดความดันโลหิต  ตรวจการใช้ยา บันทึกรายการอาหาร เก็บข้อมูลการรับประทานอาหาร ปรุงอาหารให้เหมาะกับผู้ป่วย และติดตามการออกกำลังกาย