ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ไทยรัฐ :  “สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของ “ระบบหลักประกันสุขภาพประเทศไทย”

สำหรับแนวคิดและการผลักดันเพื่อจัดตั้ง “สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า ภายหลังการจัดตั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ “บัตรทอง” ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านการรักษาพยาบาลของประเทศไทย เติมเต็มระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ

เพื่อทำให้คนไทยกว่า 65 ล้านคน เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง

“แต่จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นอกจากแต่ละกองทุนมีความแตกต่างในด้านงบประมาณและสิทธิประโยชน์แล้ว ยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะระบบบัตรทองที่คนชั้นกลางใช้สิทธิน้อยลง เลือกรับบริการโรงพยาบาลเอกชน...โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโดยจ่ายเงินเอง”

เหตุผลสำคัญก็เนื่องมาจากไม่พอใจการบริการในระบบบัตรทอง

แม้ว่ามองผิวเผินดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้จำนวนผู้ใช้สิทธิลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายในระบบ แต่ในระยะยาวที่สุดจะเกิดผลกระทบ เนื่องจากเมื่อสถานพยาบาลเหล่านั้นมีรายได้ดี บุคลากรทางการแพทย์ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จนเกิดความต่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ทำให้มีการเรียกร้องและปรับเพิ่ม

ส่งผลต่อ “ต้นทุนการรักษา” ใน “ระบบบัตรทอง” เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ศ.ดร.อัมมาร ย้ำว่า เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศมีความยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีเวทีความร่วมมือ ให้ทุกภาคส่วนในระบบสุขภาพของประเทศเข้ามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เน้นการเจรจา ทั้งผู้บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมบัญชีกลาง

รวมถึงผู้ให้บริการอย่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ยังต้องมีตัวแทนบุคลากรในระบบสุขภาพ มารวมกันเพื่อทำหน้าที่นี้ โดยตั้งเป็น...“สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

“ในการผลักดันตั้งสภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ่งที่ผมยืนยันได้คือการรวม 3 กองทุนรักษาพยาบาลจะไม่เกิดขึ้น และจะไม่ได้เป็นซุปเปอร์บอร์ดเพื่อควบคุมการบริหาร 3 กองทุนฯ เหมือนกับซุปเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ไม่มีการทำใน 2 เรื่องนี้แน่นอน”

ประเด็นนี้ชัดเจนมาก เพียงแต่จะเปิดเป็นเวทีเจรจาร่วมกัน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมถึงรัฐมนตรีของ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม คือ...กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงการคลัง และผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นน่าสนใจ “สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลจากเดิมที่เป็นรูปแบบสั่งการ โดยเปิดการมีส่วนร่วมเพื่อร่วมแก้ปัญหา ขับเคลื่อนระบบสุขภาพประเทศไปพร้อมกัน

นอกจากการเชื่อมต่อระหว่างกองทุนรักษาพยาบาลและหน่วยบริการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึงแล้ว ยังมุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกองทุนรักษาพยาบาล โดยเน้นการมีฉันทามติร่วมกัน

ทั้งนี้...จากที่ได้ไปสำรวจการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะในประเทศที่มีหลายกองทุนรักษาพยาบาล ต่างก็ใช้วิธีนี้เป็นกลไกในการบริหารร่วมกัน

สำหรับความคืบหน้า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.สภาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ....อยู่ระหว่างการผลักดัน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่นั้น อย่างน้อย...วันนี้ได้มีการนำเสนอและวันหนึ่งอาจเกิดขึ้นได้

ศ.ดร.อัมมาร ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะเป็นการเปิดให้มีเวทีการเจรจาอย่างเป็นทางการจริงๆ ไม่ใช่การมีส่วนร่วมลอยๆ ที่มีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องเป็นเพียงไม้ประดับ แต่เวทีนี้ทุกส่วนจะต้องเข้ามามีส่วนตัดสินใจ เพื่อขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศให้ยั่งยืน

ในวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2558 นี้ จะมีการจัดประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 1 (พ.ศ.2558) “หลักประกันสุขภาพ : ความก้าวหน้า ความท้าทาย และความกลมกลืน” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถือเป็นการนับหนึ่งอย่างเป็นทางการในการสะท้อนถึงความสำคัญที่เกี่ยวพันกับเรื่องนี้

นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ประธานอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ บอกว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถือเป็นนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและเป็นธรรมเพื่อประชากรไทยทุกคน

ประเทศไทยก้าวสู่หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี 2545 ถือได้ว่าเป็นประเทศแรกๆในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่บรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงเป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

รวมทั้งถูกจัดให้เป็นประเทศกรณีศึกษาขององค์กรระหว่างประเทศในการพัฒนาระบบสุขภาพให้ประชาชนแก่ประเทศต่างๆ

ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐภายใต้ 3 กองทุนหลัก ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และ ประกันสังคม ครอบคลุมประชากร 67 ล้านคน

14 ปีที่ผ่านมา...“ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ได้แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ไม่เพียงแต่ป้องกันความเสี่ยงทางการเงินของประชาชนในการเข้าถึงบริการ แต่ยังสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในการพัฒนาระบบสุขภาพ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีความท้าทายในการจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐ

ไม่ว่าจะเป็น...ความแตกต่างของการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ การรับ...ส่งมอบบริการ การจัดหา...การใช้เงิน ระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ ระบบกำกับคุณภาพบริการ...การคุ้มครองสิทธิและอื่นๆ

จึงมีการตั้งคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และได้ตั้งอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อเสนอการพัฒนากลไกกลางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อจัดทำกลไกเพื่อสร้างความกลมกลืน จนนำมาสู่การประชุมระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยในครั้งนี้

“การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นกลไกการสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างกองทุนหลักประกันสุขภาพภาครัฐ 3 กองทุน...ผู้ให้บริการ...ผู้รับบริการ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด”

เพื่อนำไปสู่การบูรณาการ พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพไปในทิศทางที่เกื้อหนุน...สอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและแลกเปลี่ยนความรู้ ส่งเสริมการนำข้อมูล...องค์ความรู้ที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์มาใช้ขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่ความกลมกลืน...พัฒนาขีดความสามารถระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย

เป้าหมายสำคัญก็คือความเท่าเทียมกัน...แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาคระหว่างกองทุนต่างๆ ทั้งงบประมาณ สิทธิประโยชน์ และการเข้าถึงการรักษา.

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558