ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : รายงานผลการสอบสวนเหตุบกพร่องที่โรงพยาบาลมิดสตาฟฟอร์ดเชียร์โดยคณะกรรมการของเซอร์โรเบิร์ต ฟรานซิสได้ชี้ให้เห็นปัญหาการจัดอัตรากำลังพยาบาล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดอัตรากำลังพยาบาลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วยความเคร่งครัดและรับผิดชอบ ซึ่งหากละเลยก็อาจนำไปสู่ความผิดพลาดอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ อัตราตำแหน่งงานว่างที่ล้นหลามในวิชาชีพพยาบาลที่สหราชอาณาจักรก็เป็นคำตอบในตัวเองอยู่แล้ว จำนวนนักศึกษาพยาบาลในสหราชอาณาจักรทุกวันนี้ไม่เพียงพอสำหรับทดแทนพยาบาลที่ออกจากงานด้วยเหตุผลนานาประการ ทั้งเกษียณอายุหรือเปลี่ยนอาชีพ หรือไปประกอบวิชาชีพยังต่างประเทศ ดังที่พบว่าจำนวนพยาบาลที่หลั่งไหลออกจากสหราชอาณาจักรกำลังแซงหน้าพยาบาลต่างชาติที่เดินทางเข้ามา

สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความล้มเหลวที่จะให้บริการที่มีคุณภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งในขณะเดียวกันก็พลอยบั่นทอนความปลอดภัยของผู้ป่วยด้วย   

อีกด้านหนึ่งตัวเลขการฝึกหัดพยาบาลที่ต่ำก็เป็นปัญหาที่เห็นชัดเจน โดยในปีงบประมาณ 2558-2559 นั้น สถิติการฝึกหัดพยาบาลเพิ่มขึ้นจาก 989 คนมาอยู่ที่ราว 23,000 คน และจากที่ประเมินกันว่าอัตรากำลังพยาบาลในระบบบริการสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (NHS) ในปีหน้ายังคงขาดอีกร่วม 48,000 ตำแหน่งก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดถึงสภาพการณ์ของปัญหาขาดแคลนพยาบาล

การรั้งตัวพยาบาลที่สำเร็จการฝึกหัดแล้วเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง ทุกวันนี้วิชาชีพพยาบาลยังคงมีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนโดยไม่ขาดสายและส่วนใหญ่เป็นชาวอังกฤษที่มีพื้นเพมาจากย่านใจกลาง แต่เพราะนโยบายรัดเข็มขัดทำให้การสนับสนุนทุนการศึกษาในหลักสูตรพยาบาลก่อนขึ้นทะเบียนลดลง และบีบให้สถาบันการฝึกหัดพยาบาลต้องปฏิเสธผู้สมัคร และเหมือนเป็นเรื่องประชดที่สุดท้ายแล้วสถานพยาบาลในสังกัด NHS ต้องเยียวยาตนเองด้วยการนำงบประมาณมาละลายไปกับการว่าจ้างบริษัทนายหน้าพยาบาล และหลายแห่งก็พยายามจะดึงแรงงานต่างชาติเข้ามาอุดอัตรากำลังที่ว่างอยู่

การถอนตัวจากการฝึกหัดพยาบาลก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งกรมการศึกษาเพื่อสุขภาพ (Health Education England) ตระหนักดี สำหรับในประเด็นนี้กรมการศึกษาเพื่อสุขภาพซึ่งมีภารกิจด้านการศึกษา ฝึกบรม และผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขให้คำมั่นว่า สหราชอาณาจักรจะสามารถพึ่งพาบุคลากรของตนได้ภายใน ปี 2560 โดยอ้างถึงตัวเลขการผลิตพยาบาลที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทว่าคำประกาศดังกล่าวดูจะไม่ทันการณ์กับปัญหาขาดแคลนอัตรากำลังซึ่งกำลังกดดันผู้บริหารการพยาบาลอยู่ในขณะนี้

เมื่อแรงงานต่างชาติเป็นทางออก

ปัญหาอัตรากำลังพยาบาลในสหราชอาณาจักรนำมาสู่ทางแก้ด้วยการเปิดรับแรงงานต่างชาติอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ซึ่งการขาดแคลนพยาบาลนั้น เรื้อรังจนกระทั่งต้องเพิ่มสัดส่วนการว่าจ้างพยาบาลต่างชาติขึ้นเป็น 1 ใน 4 เมื่อปีก่อน

สถิติพยาบาลต่างชาติในสหราชอาณาจักรจำแนกตามประเทศต้นทาง ประจำปี 2558    

การปรับลดหลักสูตรพยาบาลก่อนขึ้นทะเบียน ทำให้แรงงานต่างชาติได้รับการคาดหวังเป็นหนึ่งในทางออกสำหรับปัญหาขาดแคลนอัตรากำลัง  โดยกลุ่มผู้บริหารสถานพยาบาลในสังกัด NHS และเครือข่ายออกมาเตือนว่า ระเบียบคนเข้าเมืองของกระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักร “ตึง” เกินไปจนขัดขวางการว่าจ้างแรงงานต่างชาติซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง พร้อมกับได้ชี้ ไปที่ความเสี่ยงต่อผู้ป่วย ทั้งการรอค้างเติ่งอยู่บนรถเข็น หรือต้องยกเลิกการผ่าตัดเพียงเพราะระเบียบคนเข้าเมืองทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจ้างบุคลากรชาวต่างชาติได้

และที่ยิ่งน่าเป็นห่วงก็คือ กระทรวงมหาดไทยสหราชอาณาจักรไม่ได้บรรจุวิชาชีพพยาบาลไว้ในบัญชีสาขาอาชีพขาดแคลน ข้อขัดแย้งมีขึ้นจากประเด็นจำนวนโควตาการทำงานที่มหาดไทยออกให้ โดยที่สถานพยาบาลของ NHS หลายแห่งอ้างว่า มีพยาบาลต่างชาติที่ประสงค์จะรับเข้าทำงาน แต่พยาบาลต่างชาติดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามามาในสหราชอาณาจักร และว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเสริมอัตรากำลังพยาบาลอีก 1,000 ตำแหน่งภายใน 6 เดือนข้างหน้า และโยนไปที่มหาดไทยว่าปฏิเสธการอนุมัติคำร้องขอใบอนุญาตทำงานจำนวนมาก ซึ่งมหาดไทยตอกกลับมาว่า NHS ไม่ได้ใช้โควตาทำงานตามที่ได้จัดสรรไว้ให้

เมื่อฝ่ายบริหารคัดง้างกับนักวิชาชีพ

ข้อพิพาทอัตรากำลังพยาบาลระหว่างกระทรวงมหาดไทยและ NHS ลุกลามเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอก     โดยราชวิทยาลัยการพยาบาล (Royal College of Nursing) ออกมาโต้แย้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์หลังคณะกรรมการที่ปรึกษาว่าด้วยการย้ายถิ่นฐาน (Migration Advisory Committee) แถลงว่า วิชาชีพพยาบาลไม่อยู่ในข่ายสาขาวิชาชีพขาดแคลนจนต้องเปิดรับบุคลากรต่างชาติ โดยราชวิทยาลัยแสดงความผิดหวังที่คณะกรรมการกระทำนอกหน้าที่ด้วยการประกาศว่าไม่มีปัญหาขาดแคลนพยาบาล

ต่อมาในเดือนมิถุนายนที่ประชุมราชวิทยาลัยการพยาบาลทราบข่าว และเห็นว่าปัญหานั้นยังอาจลามไปถึงการอนุญาตให้พยาบาลต่างชาติพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักร ตามที่ระเบียบใหม่กำหนดว่าแรงงานที่ไม่ใช่ชาวยุโรปจะต้องมีรายได้อย่างน้อย 35,000 ปอนด์ (ราว 1.89 ล้านบาท) ภายใน 6 ปีเพื่อที่จะสามารถพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป ซึ่งในขณะที่มหาดไทยมองว่ามาตรการนี้จะช่วยลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ แต่นายปีเตอร์ คาร์เตอร์ เลขาธิการราชวิทยาลัยการพยาบาลเตือนว่าพยาบาลชาวต่างชาติในสังกัด NHS กว่า 3,300 คนอาจต้องอพยพออกภายใน 2 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะส่งผลกระทบชัดเจนต่อหน่วยงานสาธารณสุขและการดูแลด้านสังคม และจะนำไปสู่ภาระต้นทุนการระดมบุคลากรของหน่วยงานสังกัด NHS ในต่างประเทศ

เห็นได้ชัดว่าราชวิทยาลัยการพยาบาลมุ่งมั่นที่จะนำวิกฤติอัตรากำลังมาใช้เป็นประเด็นการเมือง ทว่าจากการทุ่มเถียงกับกระทรวงมหาดไทยก็ทำให้ประจักษ์ชัดถึงความบกพร่องด้านแผนยุทธศาสตร์การประสานงานในระดับรัฐมนตรี จึงไม่น่าแปลกใจที่ราชวิทยาลัยฯ ก็ยอมรับว่า ผู้บริหารการพยาบาลของ NHS เองยังคงจับต้นชนปลายไม่ถูกในประเด็นการเปิดรับบุคลากรต่างชาติ  

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปีเตอร์ แบรดชอว์ : ศาสตราจารย์นอกราชการ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮัดเดอร์สฟิลด์

ที่มา : The Conversation