ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์เผยปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กไม่ถูกต้อง มาจากพฤติกรรมซื้อยาใช้เอง ร้องขอยาจากแพทย์ และใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาทวีความรุนแรงมากขึ้น แนะให้ใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น กินยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่แพทย์สั่ง และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยาแรงเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการดื้อยาจนไม่มียาขนานต่อไปใช้รักษาได้

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรปได้กำหนดให้วันที่ 18 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันแห่งการรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กอย่างสมเหตุสมผล เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน เกิดความตระหนักถึงปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในเด็กที่มากเกินความจำเป็น รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งกรมการแพทย์ให้ความสำคัญกับการป้องกันและควบคุมปัญหาเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล โดยมีการวางแผนป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา ที่เป็นผลพวงหลักจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินความจำเป็นและไม่ถูกต้องทั้งในและนอกโรงพยาบาล

โดยมุ่งเน้นให้สถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ควบคุมปริมาณการจ่ายยาปฏิชีวนะให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการลดค่าใช้จ่ายที่เกินความจำเป็น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผล ประชาชนไม่มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง เช่น การซื้อยาใช้เอง การร้องขอยาจากแพทย์ การใช้ยาผิดข้อบ่งชี้ ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งทวีความรุนแรง มากขึ้นในประเทศไทย

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมปัญหาการดื้อยา อธิบดีกรมการแพทย์แนะแนวทางการใช้ยา 3 ข้อ ดังนี้ 1.ควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น การป่วยด้วยโรคหวัด ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เนื่องจากเชื้อหวัดเป็นไวรัส ไม่ใช่แบคทีเรีย ดังนั้น การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่มีผล 2.ควรกินยาปฏิชีวนะให้ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง หากหยุดกินเองเชื้อแบคทีเรียจะปรับตัวให้คงทนต่อยามากขึ้นและกลายเป็นเชื้อดื้อยาในที่สุด 3.ควรใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ยาแรงเกินไป เพื่อมุ่งให้หายจากอาการป่วยโดยเร็ว ซึ่งหากใช้ยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์แรงในการรักษาเริ่มแรกทันที เมื่อเกิดการดื้อยาขึ้นจะทำให้ไม่มียาขนานต่อไปเพื่อใช้ในการรักษา ฉะนั้น การแก้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินจำเป็นต้องดำเนินการในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล ร้านยา และภาคประชาชน จึงจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนและยั่งยืน