ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.วุ่นอีก กู้ภัยเอกชน-มูลนิธิ จี้ รมว.สธ. ตรวจสอบการทำงานเลขาธิการ ระบุขาดคุณสมบัติ ไม่โปร่งใสในการบริหาร ไม่พัฒนาหน่วยกู้ชีพกู้ภัยให้ได้มาตรฐาน ไม่จัดทำมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉิน ทำให้ไทยไม่มีมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินที่มีสภาพบังคับใช้จริง

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ตัวแทนภาคีเครือข่ายมูลนิธิไม่แสวงหากำไร ที่ร่วมปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย จำนวน 36 องค์กร ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อร้องเรียนใน 4 เรื่อง คือ

1.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ภายใต้การนำของ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ.ไม่จัดทำมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉินและเสนอให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินประกาศเป็นกฎหมายให้ถูกต้องสมบูรณ์ ทำให้ไทยไม่มีมาตรฐานด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่มีสภาพบังคับใช้จริง

2.ไม่ให้เครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ร่วมกันจัดทำเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวจะใช้ในการควบคุม กำกับ ดูแล ภาคีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด 

3.เลขาธิการ สพฉ.กีดกั้นการเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ปฏิบัติการภาคเอกชน มูลนิธิ มีการเลือกที่รักมักที่ชัง เทงบประมาณให้กับบุคคลใกล้ชิดและพวกพ้อง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงดูหมิ่นดูแคลนไม่ให้เกียรติผู้ปฏิบัติงานจากภาคเอกชน ด้วยคำพูดบั่นทอนจิตใจ เช่น คุณมีปัญญาหรือ ทำลายขวัญกำลังใจจิตอาสา

และ 4.เลขาธิการ สพฉ.ไม่ทำหน้าที่ประสานงาน และประกาศจัดตั้งศูนย์ประสานงานเมื่อเกิดภาวะภัยพิบัติ ตามมาตรา 15(7) ของ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

ในหนังสือร้องเรียนยังระบุว่า เลขาธิการ สพฉ.ไม่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอ ในการบริหารจัดการ ขับเคลื่อนองค์กรระดับชาติ ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุขในฐานะประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติสอบสวนหาข้อเท็จจริง และพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ที่บกพร่อง ผิดพลาด ขัดต่อระเบียบ กฎหมาย โดยทางผู้ร้องยินดีให้ข้อมูลเพิ่มเติมทุกประเด็น

นายวันจักร จันทร์สว่าง ผู้แทนมูลนิธิพิทักษ์กาญจน์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ เลขาธิการ สพฉ.ท่านนี้มาดำรงตำแหน่ง เห็นได้ชัดว่าไม่ได้ส่งเสริมหรือจัดการอบรมสร้างความรู้ในการปฐมพยาบาล การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเบื้องต้น การปั๊มหัวใจ และพัฒนาศักยภาพหน่วยกู้ภัยภาคเอกชน มูลนิธิ ซึ่งเป็นหน่วยกู้ภัยที่เข้าถึงประชาชนได้รวดเร็วที่สุด และมีกระจายอยู่ทุกภูมิภาคเลย หากอยากอบรมต้องจ่ายเงินค่าอบรมเองคนละ 8,000 -8,500 บาทต่อครั้ง ซึ่งสูงมาก ต่างจากเลขาธิการ สพฉ.ท่านที่ผ่านมาที่ให้ความสำคัญกับหน่วยกู้ภัยทุกภาคีเครือข่ายด้วยการพัฒนา อบรมให้ความรู้สม่ำเสมอทุกปี

“หากโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทุกแห่งมีหน่วยกู้ชีพที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว ทางหน่วยกู้ภัยของมูลนิธิก็พร้อมที่จะกลับไปรับหน้าที่เก็บศพอย่างเดียวก็ได้ แต่ขณะนี้ก็ต้องยอมรับว่ารัฐยังไม่มีหน่วยกู้ชีพที่ครอบคลุมเพียงพอ การพัฒนาหน่วยกู้ภัยของมูลนิธิ ไม่ได้ทำให้เสียงบประมาณมากมาย แค่ให้ความรู้ จัดการอบรม และกำหนดมาตรฐานการทำงานให้เรา ไม่ต้องเสียค่าจ้างรายเดือน ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก ทำไมเลขาธิการ สพฉ. ไม่ดำเนินงานต่อ” นายวันจักรกล่าว