ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอไพบูลย์” อาจารย์แพทย์รามาฯ ห่วงสถานการณ์หลังประกาศสิทธิผู้ป่วย เหตุเป็นหลักเกณฑ์ล่อแหลมและเป็นปฏิบัติการใจดำ หวั่นส่งกระทบกลุ่มผู้ป่วยด้อยโอกาส แนะแพทยสภาต้องติดตามและทบทวนหลังประกาศ ต้องมองเหรียญสองด้าน ไม่ดูแต่เฉพาะมุมของแพทย์ 

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีการโพสต์ข้อความถึงประกาศสิทธิผู้ป่วยของแพทยสภา โดยแสดงความเห็นว่าเป็นการยกธงขาวของวงการแพทย์ต่อโรคระบาดกลุ่ม metabolic syndrome ว่า เป็นเพียงแค่การเปิดประเด็นชวนคุยและเห็นว่าเรื่องสิทธิผู้ป่วยมีประเด็นที่น่าพิจารณา แม้ว่าการจัดทำประกาศสิทธิผู้ป่วยของแพทยสภาจะอ้างหลักสากลและฟังขึ้นได้ในระดับหนึ่ง แต่คำถามคือสุขภาพของมนุษย์ เจ้าตัวเองสามารถกำหนดได้แค่ไหนอย่างไร เพราะตราบใดที่ยังมีบริการแพทย์อยู่ นั่นหมายความว่าพ้นขอบเขตหนึ่งเขาไม่สามารถพึ่งตัวเองได้และยังต้องพึ่งวิชาชีพเพื่อดูแล อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าวิชาชีพแพทย์เองก็มีขีดจำกัด และมีความไม่แน่นอนในเวชปฏิบัติ และคงไม่มีใครกล้าเถียง แต่ยังมีคำถามคือหลักเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิผู้ป่วยที่แพทยสภาประกาศได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

“ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งเกิดมาในครอบครัวที่มีแต่ขี้เมา สูบบุหรี่ และเล่นการพนัน ซึ่งอนุมานได้ว่าเขาเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน มีทางเลือกสังคมที่ต่ำ หรือที่เรียกว่าเป็นกลุ่มด้อยโอกาส แม้ว่าเหตุผลเขาย่อมรู้ดีว่าทั้งเหล้า บุหรี่ และการพนันเป็นสิ่งที่มีพิษภัยและอันตราย แต่เป็นเพียงทางออกที่จะไขว่คว้าได้ แม้แต่หมอเองทุกวันนี้ก็มีที่ดื่มสุรา ซ้ำมีบางคนที่เป็นพิษสุราเรื้อรัง ดังนั้นหากเราคำนึงถึงข้อจำกัดเหล่านี้น้อยไปก็ดูเหมือนใจดำกับกลุ่มคนด้อยโอกาสเหล่านี้ ตรงข้ามกับหมอที่ส่วนใหญ่มีชีวิตที่มีทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาชีพ สถานที่ทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมนำเสนอ”

หากมองว่าการออกประกาศสิทธิผู้ป่วยฉบับนี้ เป็นธรรมกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่กล่าวมาข้างต้นหรือไม่นั้น นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า หลักการก็ส่วนหนึ่ง ทางปฎิบัติก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่การมีหลักการเป็นเหมือนกับการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมขึ้นมา แน่นอนว่าถ้ามีอิทธิพลเพียงพอจะทำให้คนในวงการแพทย์ไม่น้อยจะใช้กติกานี้โดยไม่ใช้วิจารณญาณถึงผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่าใจดำ และภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้  

ทั้งนี้เพื่อนแพทย์ที่เพิ่งเกษียณเล่าให้ฟังว่า มีแพทย์คนหนึ่งซึ่งมักนัดผู้ป่วยเบาหวานนอกเวลาราชการ แต่ในเวลาราชการกลับไม่นัด เพราะจะได้ค่าตรวจจากคนไข้รายละ 40-50 บาทต่อคน โดยตรวจคนไข้ร่วม 200 คนในเวลา 3 ชั่วโมง โดยใช้วิธีการดูตัวเลขและยาเดิม เห็นแล้วรู้สึกอึดอัดใจ เหตุการณ์เหล่านี้ใหญ่โตแค่ไหนไม่มีใครรู้ ดังนั้นการที่สร้างหลักเกณฑ์ล่อแหลมและเป็นปฏิบัติการใจดำจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ต่อข้อซักถามว่า แสดงว่ารู้สึกกังวลต่อสถานการณ์หลังจากที่ได้มีการประกาศสิทธิผู้ป่วย นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ต้องบอกว่ารู้สึกห่วงใยต่อสถานการณ์มากกว่า และเห็นว่าแพทยสภาควรจะมีการเฝ้าติดตามและทบทวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหลังการออกประกาศอย่างรอบด้าน และปรับตามความเหมาะสม ทั้งนี้ในประเด็นนี้คงต้องพูดให้ครบทั้งสองด้าน เพราะในด้านผู้ป่วยเอง มีกลุ่มคนที่เอาเปรียบระบบเช่นกัน อย่างเช่น ผู้ป่วยที่สะดวกมาพบแพทย์และรับยาในเวลาราชการ แต่กลับเลือกมานอกเวลาราชการที่แผนกฉุกเฉินเพื่อความสะดวก แต่กลับเบียดบังเวลาผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็น ซึ่งประกาศสิทธิผู้ป่วยสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จริงหรือไม่ เรื่องนี้ต้องมองเหรียญสองด้าน ไม่ได้บอกว่าใครผิดหรือถูก

ส่วนมองอย่างไรกับแพทยสภาที่ปรับปรุงประกาศสิทธิผู้ป่วยนี้ นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลถึงที่มาของประกาศ แต่กังวลถึงที่ไปที่จากนี้ อย่างที่บอกแล้วว่ามันไม่ได้เสียหายอะไรที่จะประกาศสิทธิผู้ป่วย แต่ต้องมีการติดตามและประเมินประกาศที่ออกไป เพราะความใจดำมีอยู่ในทุกวงการ เพียงแต่เราจะเห็นหรือไม่เท่านั้น หากเราไม่เห็นแต่เป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญมาก คนจะถูกกระทำแบบอยุติธรรมมากเกินไปและนานวันสังคมจะไม่ให้ความศรัทธาต่อวงการแพทย์มากว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

ทั้งนี้การออกประกาศสิทธิผู้ป่วยของแพทยสภา เป็นการมองเหรียญเพียงด้านเดียว และแพทยสภามองถึงพฤติกรรมแพทย์น้อยไป ซึ่งปัญหาต่อผู้ป่วยที่เกิดขึ้น หากถามว่าแพทยสภารู้หรือไม่ คงต้องบอกว่ารู้ เพียงแต่แพทยสภาเล่นเกมตั้งรับโดยรอให้ชาวบ้านฟ้องเข้ามาและนำคดีมาดูเท่านั้น ซึ่งเหมือนกับกระบวนการยุติธรรมในบ้านเราที่ตั้งรับเท่านั้น ดังนั้นควรมีการทำงานเชิงรุกโดยใช้ความเป็นวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ เพราะการออกประกาศฉบับนี้มาจากสมมติฐานจึงต้องมีการหาหลักฐานมาสนับสนุนว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่      

“ตัวอย่างเช่น ถ้าบอกว่าผู้ป่วยต้องรับผิดชอบตัวเองหากแพทย์แนะนำให้เลิกบุหรี่แล้วไม่เลิก โดยมีเพียงแค่ 10% ที่ทำตามคำแนะนำแพทย์ ประเด็นคือสังคมยอมรับได้หรือไม่กับอีก 90% ที่เหลือที่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมตามที่แพทย์แนะนำด้วยเหตุข้อจำกัดและความด้อยโอกาสเมื่อเจ็บป่วยและจะไม่รักษา เช่นเดียวกับกรณีอุบัติเหตุจราจร หากแพทย์เตือนว่าคราวหน้าหากขี่มอเตอร์ไซด์ไม่สวมหมวกกันน๊อกจะไม่รักษา หรือดื่มเหล้าขับรถประสบอุบัติเหตุแล้วขาขาด แพทย์ไม่รักษาให้เพราะให้ความรู้ไปแล้ว เหล่านี้เรารับได้หรือไม่” นพ.ไพบูลย์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยทำตามคำแนะนำแพทย์แล้วไม่ดีขึ้น ก็เป็นอีกมุมหนึ่งเช่นกัน เหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามและช่วยกันหาทางออก