ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีเสวนา “สิทธิเข้าถึงหลักประกันสุขภาพเด็กที่ไม่สถานะทางทะเบียน” ห่วงคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข “นักเรียนไร้สถานะทางทะเบียน” เกือบ 7 หมื่นคน สะดุด หลัง มท.ขอสำรวจข้อมูลคุณภาพ ม.38 พ.ร.บ.ทะเบียบราษฎร์ แถม สธ.โยกย้ายผู้บริหารใหม่ เลื่อนประชุม คกก.คืนสิทธิบุคคลมีสถานะและสิทธิ 16 พ.ย. ไม่มีกำหนด หวั่นยืดเยื้อทำเด็กไทยตามแนวชายแดน ไม่มีเลข 13 หลักไม่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาล ส่งผล รพ.พื้นที่รับภาระค่ารักษาต่อเนื่อง กระทบงานป้องกันควบคุมโรคในประเทศ ชี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งนำเรื่องเสนอต่อ ครม.

ที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียนแห่งประเทศไทย – เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ เพื่อพัฒนาสุขภาวะของผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิการเข้าถึงการมีหลักประกันสุขภาพสำหรับเด็กนักเรียนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน : สุขภาพที่ดีของเด็กคือสุขภาพที่ดีของสังคม” เพื่อนำเสนอสถานการณ์ปัญหาการขาดหลักประกันสุขภาพของเด็กนักเรียนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหา

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและพัฒนา ในฐานะกรรมการกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามมติ ครม. 3 มีนาคม 2553 เรื่องการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธิ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาสถานและสิทธิเพิ่มเติม โดยในส่วนของเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เห็นว่าข้อมูลยังขาดความชัดเจน จึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำการตรวจสอบข้อมูลเพื่อยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง พร้อมรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าว และให้นำเสนอต่อ ครม.เพื่อมีมติเห็นชอบอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับทุกคนในประเทศ รวมถึงกลุ่มด้อยโอกาสและกลุ่มเด็กที่ยังมีปัญหาสถานะและสิทธินี้

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากมีมติ ครม.ดังกล่าว จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการนำข้อมูลตรวจสอบเด็กนักเรียนในสถานศึกษาที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มนี้กลับเข้าสู่ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติม นับว่ามีความล่าช้ามาก ไม่เพียงแต่กระทบต่อเด็กเท่านั้น แต่อาจส่งผลต่องานป้องกันและควบคุมโรคในภาพรวมได้ ด้วยเหตุนี้ทางเครือข่ายฯ จึงรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเพื่อคืนสิทธิรักษาพยาบาลให้กับเด็กกลุ่มนี้โดยเร็ว

“ข้อมูลเด็กในสถานศึกษาที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ สธ.นำเสนอต่อ ครม.เมื่อเดือนมีนาคม 2558 ได้ใช้ข้อมูลการอุดหนุนการศึกษาเด็กกลุ่มด้อยโอกาสนี้ จากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ได้จัดทำทะเบียนเด็กกลุ่มนี้ โดยมีตัว G นำหน้าเลข 13 หลัก เพื่อให้สิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า “เด็กติด G” ซึ่งมีจำนวน 67,511 คน ดังนั้นการอนุมติให้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลจีงไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะใช้ข้อมูลเดียวกัน” นายสุรพงษ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการดำเนินตามมติ ครม. เท่านั้น

ด้านนายเฉลียว เถื่อนเภา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโกล่าง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี กล่าวว่า ในพื้นที่อำเภอสวนผึ้งมีประชากร 50,000 คน ในจำนวนนี้มีประชากรแฝงกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 20,000 คน ส่วนหนึ่งคือ เด็กที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์ แม้ว่าจะเข้าโรงเรียนในพื้นที่ได้ แต่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลกลับมีปัญหา เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจะรักษาและออกค่าใช้จ่ายให้ได้ทุกครั้ง การแก้ปัญหาส่วนตัวคิดว่า ต้องร่วมมือกันตั้งแต่ผู้มีอำนาจจากส่วนกลางที่เกี่ยวข้องที่จะผลักดันแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการขึ้นทะเบียนและให้สิทธิเพิ่มเติมในการรักษาพยาบาลแก่เด็กนักเรียนลงสู่พื้นที่จริง และผู้นำท้องถิ่นชุมชนเองต้องรับแนวทางมาปฏิบัติให้เกิดผลจริง เพราะไม่เพียงเป็นประโยชน์กับเด็กนักเรียน แต่ยังเป็นประโยชน์ส่วนรวมของพื้นที่ในการดูแลจัดการ ทั้งด้านสุขภาพและการดำเนินชีวิตด้านอื่นๆ อีกด้วย