ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ชวนคนไทยลอยกระทงอย่างมีความสุข ปลอดภัยจากการจมน้ำและการบาดเจ็บ แนะปฏิบัติตามกฎจราจร ระวังการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ไม่ปล่อยเด็กอยู่ใกล้น้ำตามลำพัง ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน พบ มีผู้เสียชีวิตจากการจราจร 771 คน เฉลี่ยวันละ 51 คน สูงกว่าช่วงปกติที่มีประมาณ 40 คน เสียชีวิตจากการจมน้ำ192 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน เฉพาะในวันลอยกระทงเพียงวันเดียว มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยมากกว่าในช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่าตัว

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าว “ลอยกระทง เทศกาลแห่งความสุข” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณในการช่วยเหลือเด็กจมน้ำอย่างถูกวิธีแก่ร้อยตำรวจโทวิไลย์ ขุนศรี รองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรเวียงคุก จ.หนองคาย  

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า วันลอยกระทงในปีนี้ ตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายน 2558  กระทรวงสาธารณสุข ขอให้เป็นเทศกาลสร้างความสุขแก่คนไทย ได้เตรียมการป้องกันอุบัติภัย 3 เรื่องที่พบบ่อย คือการบาดเจ็บจากการจราจร การจมน้ำที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงและความพิการ ซึ่งมีแนวโน้มพบมากขึ้นทุกปีในช่วงเทศกาล

จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ช่วงเทศกาลลอยกระทง 3 วัน พบ มีผู้เสียชีวิตจากการจราจร 771 คน เฉลี่ยวันละ 51 คน สูงกว่าช่วงปกติที่มีประมาณ 40 คน ร้อยละ 30 อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นวัยหนุ่มสาวอายุ 15-29 ปี  ผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ192 คน เฉลี่ยวันละ 13 คน ร้อยละ 28 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เฉพาะในวันลอยกระทงเพียงวันเดียว มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยมากกว่าในช่วงวันปกติเกือบ 2 เท่าตัว และครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ ส่วนพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ พบผู้บาดเจ็บรุนแรงเข้ารับการรักษา (รพ.ขนาดใหญ่ 33 แห่ง)  227 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 2 ราย ร้อยละ 41 เป็นเด็กอายุ 10-19 ปี อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากที่สุดคือ มือและข้อมือ รองลงมาคือที่บริเวณศีรษะได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนคนไทยร่วมสร้างความปลอดภัยให้เป็นเทศกาลลอยกระทงที่สร้างความสุข ไม่มีการสูญเสียเกิดขึ้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ทั้งรัฐ ท้องถิ่น เอกชน จิตอาสา ป้องกัน 3 อุบัติภัยช่วงลอยกระทง ในการป้องกันการจมน้ำเสียชีวิต ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข เร่งดำเนินการสร้าง “ทีมผู้ก่อการดี (Merit Maker)” ในทุกพื้นที่ เน้นการทำงาน 4 ด้านคือ 1.การประเมินและจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 2.การให้ความรู้และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ 3.การเรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และ4.การสอนฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ นอกจากนี้ ได้นำเรื่องเด็กจมน้ำไปอยู่ในแผนกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ให้มีความรู้เรื่องภัยทางน้ำ ทักษะการเอาตัวรอด ทักษะการช่วยเหลือและวิธีการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้ เชือก ขวดน้ำ แกลลอนน้ำ เพื่อให้เด็กไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำเท่ากับศูนย์ ซึ่งปีที่ผ่านมามีทีมผู้ก่อการดีแล้ว 335 ทีมทั่วประเทศ สามารถลดการเสียชีวิตของเด็กลงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 86 คน ล่าสุดในปี 2557 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต 812 คน ลดลงจากก่อนเริ่มดำเนินการในปี 2549 ที่มีเด็กเสียชีวิตประมาณปีละ 1,500 คน  

สำหรับเรื่องการบาดเจ็บจากการจราจร และจากการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดวางแผน โดยบูรณาการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการประชาสัมพันธ์ ตรวจเตือน ป้องกัน แก้ไขจุดเสี่ยง ในสถานพยาบาลให้เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน เปิดช่องทางด่วนรองรับผู้บาดเจ็บ ทีมการแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุให้พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนแจ้งขอรับการช่วยเหลือได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 1669

นพ.อำนวย กล่าวว่า ในช่วงลอยกระทง ขอให้หลีกเลี่ยงการสัญจรบริเวณสถานที่ที่มีการจัดงาน ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว ไม่ขับรถย้อนศร ไม่ดื่มสุราและไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถจักรยานยนต์ และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเมื่อขับรถยนต์  สำหรับการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ขอให้ระมัดระวัง ไม่เล่นใกล้วัตถุไวไฟ หรือบ้านเรือน ไม่เก็บไว้ในกระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง หรือที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่อง เพราะอาจระเบิดได้ ไม่พยายามจุดดอกไม้ไฟ หรือพลุที่จุดแล้วไม่ติดหรือไม่ระเบิดอย่างเด็ดขาด และควรเตรียมถังน้ำไว้ 1 ถังไว้เพื่อใช้ดับเพลิง

เมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็กเล็กกว่า 5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและคว้าถึง อย่าปล่อยให้เด็กลอยกระทงตามลำพังในกะละมัง ถังน้ำ หรือแหล่งน้ำอื่นๆ รวมทั้งเก็บกระทง เพราะอาจพลัดตกจมน้ำเสียชีวิตได้ และสอนเด็กใช้นกหวีดเพื่อขอความช่วยเหลือ ส่วนผู้ใหญ่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุราและลงน้ำ หากโดยสารเรือขอให้ทุกคนสวมเสื้อชูชีพ สำหรับหน่วยงานที่จัดงาน ขอให้จัดคนดูแล เตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำ ไว้เป็นระยะๆ เข้าถึงได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุการณ์ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้ ติดป้ายคำเตือนบริเวณที่เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือห้ามลงไปลอยกระทง ผู้จัดการเรือต้องเตรียมชูชีพให้ผู้โดยสารครบทุกคน และไม่บรรทุกเกินกว่าจำนวนหรือน้ำหนักที่กำหนด