ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออนามัยพื้นที่กันดาร” วอน สธ.จัดระดับความกันดารในพื้นที่ แก้ปัญหาค่าตอบแทนเหลื่อมล้ำ เหตุอยู่ในพื้นที่กันดาร ขาดสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภค โวยค่าตอบแทนเป็นปัญหาเรื้อรัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ว่ามีความไม่เป็นธรรม เผยงบค่าตอบแทน 3,000 กว่าล้านบาทต่อปี กลับถูกจัดสรรให้กระจุกอยู่ที่ รพช.และบางวิชาชีพเท่านั้น

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. เปิดเผยว่า ชมรมขอเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขหันมาใส่ใจหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานบริการสุขภาพชุมชน(สสช.) ในพื้นที่กันดารบ้าง ทั้งนี้อยากให้ผู้บริหารรัฐบาลหรือผู้บริหารกระทรวง ลองชมชีวิตหมอนามัยผ่านรายการ "ที่นี่บ้านเรา" ทางช่องไทยพีบีเอส ที่นำเสนอตอน "หมออนามัย" (ดู ที่นี่) ซึ่งได้ถ่ายทอดชีวิตหมออนามัยในสถานบริการสุขภาพชุมชน (สสช.) ทีโบะคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่บนดอยที่มีความยากลำบากในการเข้าถึง แต่เจ้าหน้าที่มีใจรักในบริการ เมื่อผู้ป่วยเดินทางมาไม่ได้ก็ต้องตามไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเอง แต่รัฐยังให้ความสำคัญกับหมออนามัยค่อนข้างน้อยมากถึงมากที่สุด ทั้งๆ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่กันดาร ที่ถึงขนาดต้องเดินเท้าหรือขี่จักรยานยนต์ที่มีโซ่พันล้อ

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขมีสถานบริการสาธารณสุขถึง 11,035 แห่ง เป็นระดับปฐมภูมิ (ศสม./รพ.สต/สสช.) ถึง 10,147 แห่ง (ร้อยละ 91.95 ) กลับถูกให้ความสำคัญน้อยกว่าระดับทุติยภูมิและตติยภู (รพช./รพท./รพศ.) ที่มีอยู่แค่ 888 แห่ง (ร้อยละ 8.05) เท่านั้นเอง

ซึ่งหากผู้บริหารได้ดูความยากลำบากของการปฏิบัติงานจากรายการดังกล่าว เห็นความกันดารของพื้นที่ ก็ควรที่จะพิจารณาปรับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม เสมอภาค โดยใช้มาตรฐานเดียวกันในทุกวิชาชีพ

นายริซกี กล่าวว่าจากตารางเปรียบเทียบค่าตอบแทนตามระเบียบ 2544 ฉบับแก้ไข 2558 พบว่าแม้หลักการจะดี คือให้ความสำคัญกับ รพ.สต.เป็นลำดับแรก แต่พอมาดูการจัดสรรจริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะการแบ่งระดับความยากลำบากของพื้นที่นั้น ในระดับโรงพยาบาลมีการแบ่งอย่างละเอียดถึง 6 ระดับ ในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และ 2 ระดับใน โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) รวมทั้งมีการแบ่ง 3 ช่วงเวลาในการปฏิบัติงาน ยิ่งอยู่ในพื้นที่นานก็จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มตามลำดับ

“บางวิชาชีพจะได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าเงินเดือนถึง 60,000 บาท แต่กลับใช้เกณฑ์นี้กับบางกลุ่มเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มวิชาชีพอื่นๆ อีก 4 กลุ่มจะได้รับค่าตอบแทนที่น้อยมาก โดยค่าตอบแทนที่ต่ำที่สุดคือ 600 บาทต่างกับกลุ่มแรก ถึง 100 เท่า โดยเฉพาะในกลุ่มวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี (เจ้าพนักงานทุกประเภท,พยาบาลเทคนิค) และกลุ่มวุฒิปริญญาตรี (นักวิชาการสาธารณสุข, นักวิทยาศาสตร์การแพทย์, แพทย์แผนไทย และนักจิตวิทยา) กลับมีค่าตอบแทนเท่าเดิมตลอดไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ไหน และมี 2 ช่วงอายุการปฏิบัติงานเท่านั้น แสดงถึงการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่อ้างอิงระเบียบค่าตอบแทน 2544 ฉบับเดียวกัน แต่ทำไมการแบ่งระดับพื้นที่ อายุการปฏิบัติงาน และการจัดสรรแต่ละวิชาชีพไม่เหมือนกันเช่นนี้” นายริซกี กล่าว

นายริซกี กล่าวว่า แม้ระเบียบค่าตอบแทนฯ ฉบับแก้ไข 2558 นี้ การแบ่งพื้นที่ รพช./รพศ จะให้นิยามรวม รพ.สต.ด้วย แต่กลับไม่ได้นิยามรวมถึงกลุ่ม 4 และ 5 (กลุ่มปริญญาตรีและต่ำกว่าปริญญาตรี) ในค่าตอบแทนฉบับนี้ ขณะนี้ตัวแทนสหวิชาชีพสาธารณสุขต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในนามชมรม สมาคม สหภาพต่างๆ จะรวมตัวในนามสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย เพื่อที่จะติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะเรื่องค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขนี้ มีหลักฐานเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องท้วงติงอย่างชัดเจน ตั้งแต่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษา สำนักงบประมาณ ก.พ. สำนักนโยบายพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ต่างได้ตั้งข้อสังเกตว่าการจัดสรรค่าตอบแทนนี้มีความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพชัดเจน แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังเพิกเฉยเช่นเดิม

“งบค่าตอบแทน 3,000 กว่าล้านบาทต่อปี ถูกจัดสรรให้กระจุกอยู่ที่ รพช.และบางวิชาชีพเท่านั้น ไม่มีการกระจายงบไปยัง รพ.สต.และวิชาชีพอื่นๆ เลย ทั้งที่หลักการเน้นให้ถึง รพ.สต. โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นของทุกวิชาชีพ พวกเราคือหนึ่งในฟันเฟืองและกลไกของนโยบายต่างๆ ให้ขับเคลื่อนไปได้ อันจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขควรดูแลสวัสดิการ ห่วงใยสวัสดิภาพ และให้ขวัญกำลังใจทุกวิชาชีพอย่างเป็นธรรม และเท่าเทียม” นายริซกี กล่าว

ดูรายการ "ที่นี่บ้านเราตอนหมออนามัย" เพื่อชมความยากลำบากในการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่กันดาร ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส รับชมย้อนหลังได้ ที่นี่