ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย นำทีมโดย ขรก.สธ.และสหภาพพยาบาล เตรียมยื่นหนังสือร้องทุกต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบ 18 ธ.ค.นี้ พร้อมยื่นหนังสือต่อผู้บริหาร สธ.ต่อในช่วงบ่าย หลังเคยยื่นร้องทุกข์กว่า 150 วันแต่ยังไม่คืบ แจงกลายเป็นข้าราชการชั้น 3 ตันที่ชำนาญการ เพดานเงินเดือนต่ำกว่า ครู ทหาร ตำรวจ ท้องถิ่น ชี้ปัญหาเหลือมล้ำเงินเดือนและค่าตอบแทน ถูกหมักหมมเรื้อรังมานาน รัฐต้องสังคายนา เพื่อความเป็นธรรม เสมอภาค

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ที่จะถึงนี้ ตัวแทนเครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทยจะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อติดตามเรื่องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน ส่วนสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย (สคสท.) และภาคีเครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุขจะเดินทางไปที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อเรียกร้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขต่อเนื่องจากที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มาโดยตลอด

นายประดิษฐ์ ขัติยเนตร ประธานชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. กล่าวว่า การยื่นติดตามการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ ชวส.ดำเนินการยื่นในครั้งแรกในวันที่ 8 ก.ค. 58 และยังติดตามอย่างต่อเนื่อง และครั้งนี้สามารถดึงภาคีเครือข่ายมากกว่า 20 องค์กรมาร่วมมือเรียกร้องด้วย เช่น สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย สหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย (ส.ปอ.ท) และอีกหลายชมรมองค์กรในนาม "เครือข่ายข้าราชการพลเรือนไทย" เพื่อให้คณะกรรมการปรับโครงสร้างและค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วมากขึ้น

และช่วงบ่ายวันเดียวกันบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมากกว่า 15 ชมรม ที่ ชวส.ได้ประสานมารวมตัวกันในนามสมาพันธ์สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม (สคสท.) จะเข้าไปติดตามการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข หลังจากได้ยื่นข้อเสนอไปแล้วครั้งแรกเมื่อ 27 ส.ค .58

นายสมบูรณ์ ศศิจันทรา ประธานฝ่ายวิชาการ ชวส.กล่าวว่า ข้าราชการพลเรือนต้องออกมาช่วยกันกอบกู้เกียรติยศและศักดิ์ศรีให้กับตนเอง ไม่ให้เป็นข้าราชการชั้น 3 เนื่องจากพบว่านอกจากเพดานเงินเดือนเหลื่อมล้ำ ความก้าวหน้าตีบตัน ข้าราชพลเรือนส่วนใหญ่จะมาเงินเดือนตันอยู่ที่ระดับชำนาญการ ชวส.และภาคีเครือข่ายมีแนวคิดที่ตรงกันว่า "ข้าราชการไทยต้องได้รับสิทธิเงินเดือนเท่าเทียม เสมอภาค ในระดับชั้นยศเดียวกัน" ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในฐานะเลขานุการคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและบุคลากรภาครัฐไม่ควรเพิกเฉย และควรดูแลข้าราชการพลเรือนที่อยู่ในสังกัดด้วย

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า แม้แต่ข้าราชการกระทรวงการคลังก็เป็นข้าราชการพลเรือนหน่วยงานหนึ่ง ที่มีหน้าที่ดูแลงบประมาณให้ข้าราชการทุกประเภท แต่กลับเป็นข้าราชการพลเรือนที่มีเพดานเงินเดือนที่ต่ำกว่าข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ ท้องถิ่นด้วยซ้ำไป จากเดิมบัญชีเงินเดือนของข้าราชการประเภทต่างๆ จาก พ.ร.บ.เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538 มีคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน เลขาธิการ ก.พ.เป็นเลขานุการ ทำหน้าที่พิจารณาเงินเดือนข้าราชการประเภทต่างๆ ให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องหน้าที่ความรับผิดชอบของข้าราชการแต่ละประเภทที่เทียบเคียงกันได้ จึงไม่มีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้น ต่อมามีการจัดทำบัญชีเงินเดือนข้าราชการประเภทต่างๆ แยกออกต่างหาก ทำให้ขาดการยึดโยง กงช.ไม่สามารถควบคุมได้ดังเดิม จึงเกิดความเหลื่อมล้ำมาจนถึงปัจจุบัน นานมากกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ข้าราชการพลเรือนเสียสิทธิ ถูกจำกัดเพดานเงินเดือน ไม่สามารถเลื่อนไหลได้เหมือนข้าราชการอื่นๆ

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรมเจ้าพนักงานอาวุโส(ประเทศไทย) หรือ ชสอ. กล่าวว่า การยื่นร้องทุกข์ขอขยายเพดานเงินเดือนต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้ จึงขอเชิญชวนข้าราชการพลเรือนทุกท่าน ทุกสังกัด ทุกชมรม แสดงพลังที่มากกว่าทุกครั้ง โดยการเข้ามาร่วมมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือนในวันที่ 18 ธ.ค.58 นี้ด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ครม.มีความเห็นเมื่อ 20 เม.ย.58 ให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ก.พ. นำเสนอ กงช.ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนและบุคลากรภาครัฐ แต่หลังจากมีคณะกรรมการดังกล่าว ชวส.ได้ติดตามอีกครั้ง แต่ ก.พ.กลับให้คำตอบตอบว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากต้องอาศัยองค์กรอิสระในการดำเนินการและศึกษาข้อมูลต่อไป ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีคณะกรรมการโครงสร้างเงินเดือนฯและมีบุคบากรผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการมากมาย โดยมีนายวิษณุ เป็นประธาน และ เลขาธิการ กพ.เป็นเลขานุการอีกด้วย

และเนื่องจากข้อร้องทุกข์เรื่องนี้ ชวส.ได้ดำเนินการมามากกว่า 150 วันแล้ว ซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าใดๆ อีก อาจจะต้องนำเข้าสู่ศาลปกครองต่อไป แม้ข้าราชการพลเรือนสามัญมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน จะมีความหลากหลายของตำแหน่งในแต่ละกระทรวง กรม สำนัก ที่แตกต่างกัน แต่เพดานเงินเดือนก็ควรจะทัดเทียมข้าราชการสังกัดอื่นด้วย

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการ ชวส. กล่าวว่า ต้องขอบคุณสหภาพพยาบาลแห่งประเทศ และสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย และชมรมต่างๆ ที่ก้าวออกมาเคียงข้าง ชวส.จุดเริ่มต้นในการออกมาเรียกร้องเรื่องความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนในครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เพราะเห็นว่าข้าราชการพลเรือนได้รับการดูแลที่น้อยมาก ทั้งเรื่องการบรรจุ การเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ความก้าวหน้าต่างๆ รวมทั้งเพดานเงินเดือน มีความแตกต่างจากข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ และท้องถิ่นเป็นอย่างมาก จนส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการทำงาน

“นอกจากนี้ ชวส. ชสอ. สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และชมรมต่างๆ จะยื่นหนังสือที่ทำเนียบเรียกร้องให้รัฐบาลติดตามเรื่องความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข และจะเดินทางมาที่กระทรวงสาธารณสุขต่อเพื่อขอเข้าพบผู้บริหารในกระทรวง เพื่อยื่นหนังสือติดตามการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขอีกด้วย ปัญหาความเหลือมล้ำเงินเดือนและค่าตอบแทน ถูกหมักหมมเรื้อรังมานาน สมควรที่รัฐจะสังคายนา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เสมอภาคต่อไป” นายริซกี กล่าว