ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คุมมาตรฐานคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ทั่วประเทศกว่า 5,000 แห่ง อนุญาตให้ใช้ยาสามัญประจำบ้านจำนวน 52 รายการ รักษาอาการป่วยเบื้องต้นได้ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชน อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุญาตให้คลินิกที่มีพยาบาลเฉพาะทางเป็นผู้ดำเนินการ ให้สามารถใช้ยาควบคุมพิเศษเพิ่มอีก 19 รายการ    

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ดำเนินการควบคุมมาตรฐานสถานพยาบาลเอกชน ทั้งประเภท รพ.ที่มีเตียงรับผู้ป่วยรักษาใน รพ.และคลินิกต่างๆ ทั้งด้านความปลอดภัยสถานที่ ผู้ประกอบวิชาชีพ เครื่องมือเครื่องใช้ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาล อัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการและสิทธิของผู้ป่วย เป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ซึ่งมีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2558 เป็นต้นมา เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนทั่วประเทศที่ใช้บริการ โดยมีระบบการตรวจประเมินเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในส่วนของคลินิก โดยเฉพาะคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ซึ่งทั่วประเทศขึ้นทะเบียนทั้งหมด 5,513 แห่ง กว่าร้อยละ 90 อยู่ในต่างจังหวัด มีผู้ประกอบวิชาชีพเป็นพยาบาลระดับปริญญาตรี ได้รับใบประกอบโรคศิลปะสาขาการพยาบาล และการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการดูแลด้านการพยาบาลและดูแลหญิงตั้งครรภ์ โดยตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 พยาบาลไม่สามารถจ่ายยาแผนปัจจุบันบรรจุเสร็จที่เป็นอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจึงได้วางแนวบันทึกการตรวจมาตรฐานในคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์กำหนดให้ใช้ยาสามัญประจำบ้านประจำคลินิกจำนวน 52 รายการเท่านั้น เป็นยารับประทาน ยาทาภายนอกเท่านั้น ไม่มีอันตราย เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและมีความจำเป็น ใน 9 กลุ่มอาการ เช่น ยาลดกรด ยาขับลม ยาระบายแก้ท้องผูก ยาแก้แพ้ ยาถ่ายพยาธิ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาแก้ไอขับเสมหะ ยาดมแก้วิงเวียน รายการยาดังกล่าวได้กำหนดในแบบตรวจประเมินของเจ้าหน้าที่ทั่วประเทศไว้แล้ว หากตรวจพบว่ามีมากกว่าที่กำหนดจะมีความผิดตามมาตร 35 (2) แห่ง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 คือจัดเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำ สถานพยาบาลนั้น ตามชนิดที่กำหนดในกฎกระทรวง และมีโทษ ตามมาตรา 65 คือระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ให้ พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไข หากไม่ปฏิบัติตาม มาตร 49 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวเมื่อปรากฏว่าผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการปฏิบัติ ไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้รับอนุญาต หรือผู้ดำเนินการแล้วแต่กรณี ระงับหรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของคลินิกการพยาบาลฯ ที่มีพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมสาขาเฉพาะทาง เช่นพยาบาลเวชปฏิบัติจากหลักสูตรสภาการพยาบาล 3 เดือน หรือ 6 เดือน และสามารถสั่งใช้ยาประเภทควบคุมพิเศษ เช่น ยาปฏิชีวนะทั้งกินและฉีด น้ำเกลือ เพื่อรักษาอาการป่วย เป็นต้น ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างหารือคณะกรรมการสถานพยาบาล สภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องได้แก่ สภาเภสัชกรรม และแพทยสภา จะพิจารณาเพิ่มให้อีก 19 รายการ หากได้ข้อสรุปจะดำเนินการประกาศใช้ต่อไป

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ข้อมูลในปี 2558 ทั่วประเทศมีสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตประกอบการดังนี้ รพ.เอกชน 343 แห่ง จำนวนเตียง 32,534 แห่ง อยู่ใน กทม. 104 แห่ง  ต่างจังหวัด 239 แห่ง มีคลินิกรวม 23,054 แห่ง อยู่ใน กทม. 4,852 แห่ง ต่างจังหวัด 18,202 แห่ง  มี 12 ประเภทได้แก่ คลินิกเวชกรรมมากที่สุด รวม 8,420 แห่ง  รองลงมา คลินิกพยาบาลและผดุงครรภ์ 5,513 แห่ง  คลินิกทันตกรรม 4,171 แห่ง คลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง 2,484 แห่ง การแพทย์แผนไทย 804 แห่ง เทคนิคการแพทย์ 528 แห่ง กายภาพบำบัด 316 แห่ง สหคลินิก 364 แห่ง การแพทย์แผนไทยประยุกต์ 109 แห่ง คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง 73 แห่ง คลินิกทันตกรรมชั้นสองและคลินิกการผดุงครรภ์ชั้นสองอย่างละ 32 แห่ง มีผู้ประกอบโรคศิลปะทั้งหมด 7,275 คน