ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ห่วง ระบบรักษาวิกฤตฉุกเฉินไม่คืบ หลังรัฐบาลประกาศนโยบายเป็นเวลากว่า 3 ปี เหตุเป็นแค่นโยบายขอความร่วมมือ รพ.เอกชน ส่งผลยังมีผู้ป่วยถูกเรียกเก็บค่ารักษาแพงลิบ ชี้ต้องเป็น กม.บังคับ พร้อมกำหนดอัตราจ่ายเหมาะสม ขณะที่ สพฉ.ต้องทำหลักเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินชัดให้ประชาชนเข้าใจ  

นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงการจัดระบบรักษาพยาบาลในภาวะฉุกเฉิน ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายบริการรักษาพยาบาลเจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ต้องบอกว่านโยบายนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เนื่องจากเป็นเพียงนโยบายที่แค่ขอความร่วมมือจาก รพ.เอกชน แทนที่จะใช้ พ.ร.บ.สถานพยาบาลบังคับใช้ ทำให้ยังคงมีผู้ป่วยที่ถูกเรียกเก็บค่ารักษาจาก รพ.เอกชนในอัตราที่แพงมาก แทนที่จะเป็นการเบิกจ่ายจากสิทธิหลักประกันสุขภาพ และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน แต่มาตรการทั้ง 3 แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ส่วนตัวมองว่ายังไม่ใช่คำตอบสำหรับกรณีฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงราคาอัตราค่ารักษาบนเว็บไซต์ การติดราคายาที่กล่องยา และการให้ประชาชนสามารถซื้อยาเอง เนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่ต้องรักษาโดยเร็ว

ทั้งนี้นอกจากการทำระบบบริการฉุกเฉินไม่มีความคืบหน้าแล้ว ยังมีปัญหาเพิ่มขึ้น เนื่องจากการจ่ายชดเชยค่ารักษาฉุกเฉินคืนให้กับ รพ.เอกชนยังมีอัตราลดลงเรื่อยๆ เพราะจากเดิมที่ รพ.เอกชนเรียกเก็บจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 100% แต่จะได้รับคืนที่ 25% ซึ่งตามหลักเกณฑ์การคำนวณค่าดีอาร์จีการให้บริการ แต่ปัจจุบันอาจได้รับคืนเพียงแค่ 5% เท่านั้น เพราะอัตราค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนมีการขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การจ่ายชดเชยโดยระบบยังอยู่ในอัตราเท่าเดิม ส่งผลให้สัดส่วนการจ่ายคืนนั้นลดลงจึงเป็นปัญหา

“เดิมการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดในสมองแตก เกณฑ์จ่ายค่ารักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะอยู่ที่ 8 คะแนน คูณด้วยอัตราค่าดีอาร์จี 14,000 บาท โรงพยาบาลที่รับรักษาผู้ป่วจะได้รับการชดเชยที่ 80,000 บาท แต่ปัจจุบันมีผู้ป่วยบางรายถูกเรียกเก็บสูงถึงหลักแสนหลักล้านบาท ทำให้ต้องจ่ายเพิ่มเติมในค่าส่วนต่างหลังหักเบิกจ่ายจากสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งสถานการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินปัจจุบันต้องบอกว่าแย่มาก” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว

ส่วนบทบาทหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอให้ สพฉ.ทำหน้าที่หน่วยงานกลางในการรับจ่ายค่าชดเชยกรณีฉุกเฉินนั้น มองว่าเป็นข้อเสนอที่ผิดทางเพราะไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของ สพฉ. แต่ควรเป็นหน้าที่ของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพ เพียงแต่ต้องมีการกำหนดอัตราการจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินที่เหมาะสม ซึ่ง สพฉ.อาจเป็นผู้พิจารณาค่ารักษานี้ตามกลุ่มโรคและอาการ ที่ต้องเป็นอัตราสมเหตุสมผล  ไม่ใช่เป็นการจ่ายตามการเรียกเก็บของ รพ.เอกชน และต้องเป็นการจ่ายที่เป็นธรรมระหว่าง รพ.เอกชนที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพและ รพ.เอกชนที่ไม่เข้าร่วม

นอกจากนี้ สพฉ.ต้องทำบริการ 1669 ให้ดีที่สุด และต้องทำหลักเกณฑ์วิกฤตฉุกเฉินที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในการเข้ารับบริการ โดยกรณีวิกฤตฉุกเฉินนั้นจะเข้ารับบริการยัง รพ.ใดก็ได้ที่ใกล้ที่สุด แต่หากไม่วิกฤติฉุกเฉินกรณีเข้ารับบริการรพ.เอกชน ต้องจ่ายค่ารักษาเองซึ่งเป็นราคาที่แพงมาก

“ที่ผ่านมากลุ่มภาคประชาชนได้เข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เพื่อให้ข้อมูลปัญหาระบบฉุกเฉินและกรณีการถูกเรียกเก็บค่ารักษาจาก รพ.เอกชน ซึ่ง รมว.สาธารณสุขให้นำเคสผู้ป่วยมาดู และหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพราะเป็นความเดือดร้องของประชาชน” ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว