ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ปาฐกถาพิเศษ พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 “สานพลังปัญญาภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” วันที่ 21-23 ธันวาคม พ.ศ.2558

ประวัติศาสตร์สุขภาพที่ผ่านมาของไทย ขับเคลื่อนภายใต้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 วางกรอบคิดเรื่องสุขภาพครอบคลุมสุขภาวะทางกาย ใจ ปัญญาและสังคม ออกแบบให้มีกลไกสนับสนุนระดับชาติ คือคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการจากทั้งภาครัฐ ส่วนกลางและท้องถิ่น กรรมการจากภาคประชาชนและภาควิชาการ วิชาชีพ อย่างสมดุลกัน มีการออกแบบเครื่องมือพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเรื่องสุขภาพหลายชนิด ได้แก่ การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพเพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายและทิศทางด้านสุขภาพ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี

‘สมัชชาสุขภาพ’ คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้ขับเคลื่อน ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางให้เกิดการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาร่วมคิดด้วยกัน ทำงานด้วยกัน แบบที่เรียกว่า ‘รวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ’ ซึ่งจะเกิดสุขภาพดีหรือเกิดสุขภาวะตั้งแต่รวมกันร่วมคิดร่วมทำแล้ว ผลงานที่ได้จากการร่วมกันทำนั้นยังสำเร็จเป็นรูปธรรม

อะไรคือรูปธรรมที่กล่าวถึง ?  เพราะสิ่งที่สมัชชาสุขภาพกำลังทำอยู่ค่อนข้างเป็นเรื่องนามธรรม รูปธธรม

ที่กล่าวถึงนั้นจะปรากฏขึ้นตั้งแต่กระบวนการทำงานที่เป็นระบบ ผ่านการระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการระดมปัญหาจากเรื่องใกล้ตัวของสมัชชาสุขภาพ ที่ทำเรื่องเล็กๆ จากคนใกล้ตัวเข้ามาสู่วาระระดับชาติ ซึ่งจะออกดอกออกผลในรูปของนโยบายที่ถูกนำไปใช้ 

อย่างไรก็ดีแม้หลายเรื่องที่ขับเคลื่อนอาจต้องใช้ทั้งเวลาและการทุ่มเท ดังตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น การพัฒนานโยบายเรื่องอาหารปลอดภัย เกษตรกรปลอดภัย เป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในทุกรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายถูกผลักดันเป็นนโยบายของประเทศ คณะรัฐมนตรีรนำไปขับเคลื่อนผ่านกลไกของรัฐ สมาชิกสมัชชาสุขภาพทุกระดับนำไปขับเคลื่อนต่อในระดับพื้นที่หลายจังหวัด จนสามารถขยายพื้นที่เกษตรปลอดภัย อาหารปลอดภัยได้มากขึ้นตามลำดับ

ไม่เพียงแค่เรื่องการพัฒนานโยบายเรื่องอาหารปลอดภัยที่เกิดผลเป็นรูปธรรม หนึ่งในนโยบายที่ถูกขับเคลื่อนผ่านการทำงานร่วมกันของสมัชชาสุขภาพ คือ การพัฒนานโยบายการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว ผ่านการบูรณาการร่วมมือของทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับกระทรวงส่วนกลาง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็นำไปขับเคลื่อนตามภารกิจและหน้าที่ของตนจนถึงท้องถิ่น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนหลายแห่งก็นำไปพัฒนาระบบในพื้นที่งานดีๆ ก็เกิดเป็นรูปธรรม

กล่าวได้ว่า ที่ผ่านมาการทำงานของทุกภาคส่วนไม่ได้เป็นการทำงานจากบนลงล่าง หรือรอให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐคิดและลงมือทำผ่านการสังการของหน่วยงานสังกัดต่างๆ  แต่การทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่สมัชชาสุขภาพทำนั้นเรียกได้ว่าเป็น การทำงานจากล่างขึ้นบน กล่าวคือ จากการประสานระหว่างชุมชน ระดมความเห็นของประชาชนส่งขึ้นสู่หน่วยงานของรัฐ ขณะเดียวกันการทำงานยังเน้นการใช้

องค์ความรู้ ข้อมูลทางวิชาการรองรับการทำงานมิใช่เพียงกล่าวถึงปัญหา หรือเป็นเพียงการกล่าวหากันระหว่างหน่วยงานต่างๆ หรือการคิดโดยปราศจากฐานทางวิชาการ เรียกได้ว่า การทำงานของสมัชชาสุขภาพนั้นสอดคล้องกับคำขวัญของการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 ที่ว่า ‘สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย’

แม้ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยจะพัฒนาและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ คนไทยส่วนใหญ่มีสุขภาพดีขึ้น การเข้าถึงบริการสาธารณสุขในด้านต่างๆ เป็นไปอย่างทั่วถึง ส่งผลให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น กระนั้นก็ตาม ปัญหาไม่ได้มีเพียงเรื่องระบบสาธารณสุข หรือปัญหาด้านสุขภาพเพียงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องปัญหาด้านสังคม ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

การแก้ปัญหาที่กล่าวมานั้น แม้รัฐบาลจะเป็นหน่วยงานหลักในเชิงมหภาค โดยมีองค์กรต่างๆ เป็นข้อต่อ ทว่าการทำงานของหน่วยงานรัฐเพียงอยางเดียวไม่อาจแก้ปัญหาต่างๆ ให้บรรลุผลได้อย่างแท้จริงหากปราศจากการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ดังเช่นที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสมัชชาสุขภาพที่มาจากทุกพื้นที่ในประเทศ ที่เรียกได้ว่าทุกคนมีเจตนาในการช่วยกันทำงานสร้างสุขภาวะให้สังคมอยู่แล้ว  ท้ายที่สุดจะสามารถช่วยกันพัฒนานโยบายและขับเคลื่อนให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้น เป็นการร่วมกันคืนความสุขให้กับประชาชนและสังคมร่วมกัน สิ่งที่เราทำกันอยู่นี้จึงเป็นการเดินไปในเส้นทางเดียวกัน ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน.-