ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ปาฐกถาพิเศษ รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ในงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8พ.ศ.2558 สานพลังปัญญาภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทยวันที่ 21-23 ธันวาคม พ.ศ.2558

รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์

เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นกลไกสำคัญที่สุดอันหนึ่งในการสร้างนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม หากศึกษาทฤษฎีของ Sherry R. Arnstein จะพบว่า มีบันไดแห่งการมีส่วนร่วมของพลเมืองอยู่ 8 ขั้น คือ

1) การบงการหรือสั่งให้ร่วมมือ

2) การเยียวยาเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมของผู้เดือดร้อน

3) การให้ข้อมูล เรื่องสิทธิและความรับผิดชอบ นับเป็นจุดแรกของการมีส่วนร่วมของพลเมือง แต่โดยมากยังเป็นการสื่อสารจากรัฐสู่ประชาชนทางเดียว ประชาชนยังมีโอกาสน้อยมากในการตัดสินใจ

4) การปรึกษาหารือ เช่น รูปแบบของการสำรวจทัศนคติ การทำประชาพิจารณ์

5) การทำให้พอใจ เป็นกลยุทธของการมีส่วนร่วมซึ่งมักจะมีเพียงประชาชนบางกลุ่มที่ได้เข้าร่วมเป็นกรรมการในบางกิจกรรม แต่ก็ยังไม่สะท้อนเสียงคนส่วนใหญ่

6) การเป็นหุ้นส่วน กระจายอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจกับชุมชนในการวางแผน ตัดสินใจและรับผิดชอบร่วมกัน ขั้นนี้จะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อชุมชนเข้มแข็งและมีทรัพยากรในการบริหารจัดการ

7) การมีตัวแทนที่มีอำนาจ ในแง่การตัดสินใจแผนงานต่างๆ ที่สะท้อนความต้องการของชุมชน

8) การมีพลเมืองที่มีอำนาจ ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย

หากดูกระบวนการทั้งหมดซึ่งเป็นกระบวนการจำแนกความเข้มข้นของการมีส่วนร่วม กระบวนการสมัชชาสุขภาพนั้นนับได้ว่าอยู่ในขั้น 7 อาจถึงขั้น ค ด้วยซ้ำ เนื่องจากมีการคัดเลือกตัวแทนที่มีอำนาจตัดสินใจ เข้าร่วมในระบวนการสมัชชาสุขภาพตั้งแต่การสร้างนโยบายสาธารณะและขับเคลื่อนจนเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น การเกิดคณะกรรมการพัฒนาระบบยา การสร้างธรรมนูญสุขภาพที่ชุมชนต้องการ

กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้นสำคัญยิ่งต่อการสร้างวิถีสุขภาวะไทย นับตั้งแต่มีการสานพลังปัญญาจากเครือข่ายและภาคีจนทำให้เกิด พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 และทำให้มีการจัดสมัชชาแห่งชาติทุกปี มีมติออกมามากมาย นับเป็นนโยบายสาธารณะที่มาจากฉันทมติร่วมกันของภาคีต่างๆ โดยตลอด 7 ปีที่ผ่านมา การประชุมของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทำให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เป็นมติสมัชชาถึง 64 มติ เมื่อมีทิศทางแล้วก็ต้องมีการขับเคลื่อนให้ถึงจุดหมายปลายทาง ดังนั้น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และหนึ่งในปัจจัยหลักของความสำเร็จในการขับเคลื่อนก็คือ การมีส่วนร่วมอย่างรับผิดชอบจากทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ถอดบทเรียนความผิดพลาด ตัวอย่างเช่น มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 เรื่องการเจรจาการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ที่ดูเหมือนว่ากว่าจะมีมติออกมา มีความขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย แต่มติดังกล่าวก็สามารถออกมาได้และถูกขับเคลื่อนโดยภาคีเครือข่ายจนเกิดผลมากมาย เช่น การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระหว่างการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหภาพยุโรป หรือการศึกษาประเมินผลกระทบด้านต่างๆ ก่อนเข้าร่วมทีพีพี (ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก) จึงอาจกล่าวได้ว่า การขับเคลื่อนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้นมีความสำคัญพอๆ กับการสร้างนโยบาย

นอกจากนี้ยังมีกลไกที่จะมีส่วนสร้างพลังทางสังคมเช่นเดียวกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพ นั่นคือ การทำงานร่วมกันภาคส่วนต่างๆ ตามบทบาทหน้าที่ในร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....ด้วยความเชื่อมั่นในพลังและสิทธิในการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค

จึงมีความเชื่อมั่นและเห็นความสำคัญทั้งกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ในการพัฒนาความเข้มแข็งของพลเมืองไทย

การสานพลังปัญญาและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่มีอำนาจตัดสินใจด้วยความรับผิดชอบ ย่อมนำไปสู่การสร้างสุขภาวะของสังคมไทยอย่างยั่งยืน และหวังว่ารัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะทำให้มี พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในเร็ววันนี้ .-