ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” แจงผลงาน สธ.ในรอบ 1 ปี แก้ปัญหาโรคที่ตายสูงสุด คือ หัวใจและหลอดเลือด ให้ผู้ป่วยได้รักษาทันเวลา จัดบริการดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง แก้ปัญหาไอคิว-อีคิวเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน เฝ้าระวังโรคระบาด ยาสมุนไพรมีมาตรฐาน ลดบาดเจ็บ-ตายจากอุบัติเหตุจราจร พัฒนาระบบบริการ ลดโรคเรื้อรัง

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีรอบ 1 ปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมุ่งดำเนินงานสนองนโยบายด้านสาธารณสุขของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยพัฒนาและเสริมความเข้มแข็งระบบบริการด้านสาธารณสุข อย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งผลการดำเนินงานที่สำคัญ มีดังนี้ 

1.แก้ปัญหาที่เป็นอัตราตายสูงสุด คือ โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทย มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 688,000 คน ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วทันเวลา จะช่วยลดการตายของผู้ป่วยได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดให้มีบริการผ่าตัดหัวใจ การสวนหัวใจ ในโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาค 18  แห่ง และขยายบริการให้ยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านการแข็งตัวของเลือดในโรงพยาบาลชุมชน 460 แห่ง ทำให้สามารถลดระยะเวลารอคิวผ่าตัดหัวใจจากเกณฑ์ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 9 เดือน เหลืออยู่ที่ 3 เดือน และลดอัตราตายของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน จากร้อยละ 17 ในปี 2556 เหลือ ร้อยละ 12 ในปี 2558

โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีอัตราตายประมาณร้อยละ 10-15 และกว่าครึ่งจะมีความพิการเหลืออยู่การรักษาที่รวดเร็วจะช่วยลดการตายและการพิการได้ ดังสโลแกน ทุกนาทีคือชีวิต เร็วก็รอดปลอดอัมพาต จึงพัฒนาเครือข่ายการให้บริการระหว่างโรงพยาบาลจังหวัดทั้ง 99 แห่งทั่วประเทศ กับสถาบันประสาทวิทยา มีการจัดตั้งศูนย์โรคหลอดเลือดสมองและช่องทางด่วนในโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 91 พร้อมทั้งฝึกอบรมแพทย์ พยาบาล ที่จะให้การดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะอีกกว่า 2,000 คน ทำให้ลดอัตราตายของผู้ป่วยจาก ร้อยละ 17 ในปี 2548 เหลือร้อยละ 11 ในปี 2558

2.การรับมือความท้าทายใหม่ด้านสุขภาพของประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุ/ผู้พิการ/ผู้ป่วยระยะสุดท้าย

การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย ที่คาดการณ์ว่าในปี 2583 จะมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากถึง 20.5 ล้านคน ซึ่งผู้สูงอายุร้อยละ 95 จะเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เข่าเสื่อม โดยจากการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุ 6,394,022 คน พบเป็นกลุ่มติดเตียง ร้อยละ 1 กลุ่มติดบ้านอีกร้อยละ 19 รวมทั้งยังมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิตอีก 35,000 คน 

กระทรวงสาธารณสุขจัดบริการสำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 35,000 คน โดยอบรมผู้ดูแลเกือบ 6,000 คน มีสมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวผู้สูงอายุ เพื่อให้การดูแลต่อเนื่อง รวมทั้งจัดทีมหมอครอบครัว ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและวิชาชีพต่างๆ กว่า 66,000 ทีม ให้การดูแลทั้งผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ผู้พิการ ผู้ป่วยระยะสุดท้าย และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า เป็นบริการเชิงรุกถึงบ้าน และโทรศัพท์ปรึกษาได้ตลอด24 ชั่วโมง ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี

3.พัฒนาคุณภาพประชากร 

ปัญหาวิกฤตของเด็กไทยคือ มีไอคิว อีคิว ต่ำกว่ามาตรฐานสากล มีเด็กสติปัญญาบกพร่องสูงถึงร้อยละ 6.5 และยังมีเด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้าอีกราวร้อยละ 27.5 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงทรัพยากรมนุษย์ของประเทศในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขได้แก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางโดยคัดกรองพัฒนาการเด็กในช่วงปฐมวัย และกระตุ้นพัฒนาการในรายที่มีปัญหาให้กลับมาเป็นปกติจากการคัดกรองเด็กปฐมวัยกว่า 180,000 คนพบมีพัฒนาการล่าช้าประมาณ 7,600 คน ในจำนวนนี้ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจนกลับมาเป็นปกติประมาณ 7,100 คน ที่เหลือยังอยู่ระหว่างการติดตามต่อเนื่อง

4.ผลงานสำคัญอื่นๆ

การสร้างความเข้มแข็งระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด ทั้งโรคติดต่อที่เกิดขึ้นใหม่ และโรคที่กลับมาระบาดซ้ำ ได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการเฉพาะ 22 แห่ง ทั่วประเทศ สามารถตรวจเชื้อโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้ภายใน 8 ชั่วโมง พร้อมทั้งพัฒนาระบบการดูแลรักษา ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล มีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว 1,080 ทีม ร่วมกับ อสม.อีก 1ล้าน พร้อมให้การเฝ้าระวังโรคในชุมชน

การแพร่ระบาดของโรคเมอร์สในประเทศตะวันออกกลาง ที่ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก และลุกลามไปยังประเทศในทวีปต่างๆ รวมทั้งทวีปเอเชีย เป็นบทพิสูจน์ความเข้มแข็งของระบบป้องกันควบคุมโรคของไทย โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อจากประเทศต้นทางเพียงรายเดียว และไม่เกิดการระบาดในประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ช่วยลดความสูญเสียทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศเป็นอย่างมาก

ส่งเสริมยาสมุนไพรไทยให้มีมาตรฐาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้

การส่งเสริมให้ประเทศไทยพึ่งพาตนเองด้านยา โดยเปิดแผนกดูแลผู้ป่วยนอกด้วยการแพทย์แผนไทยคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ และเปิดโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานอีก 12 แห่งทั่วประเทศ ทำให้มีการผลิตและใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น เทียบกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน พบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 4 เท่า และจากความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชสมุนไพรตามมาตรฐานการเกษตรที่ดีและเกษตรอินทรีย์ ยังช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรกว่า 10,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า ขณะที่แหล่งปลูกสมุนไพรได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญในปี 2559

1.ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจร กำหนดเป็นวาระกระทรวงสาธารณสุข และบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยรณรงค์ตลอดทั้งปี และประเมินผลการทำงานทุก 3 เดือน

2.สร้างประชารัฐด้านสังคม บูรณาการ 5 กลุ่มวัยในระดับตำบล ด้วยโครงการดูแลสุขภาพระยะยาว โดยรัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนจำนวน 600 ล้านบาท สำหรับดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 100,000 คน

3.พัฒนาระบบบริการ ลดป่วย ลดตาย ลดแออัด ลดระยะเวลารอคอย โดยพัฒนาขีดความสามารถโรงพยาบาลทุกระดับ ให้บริการขั้นสูง ด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย

4.ลดโรคเรื้อรัง ทั้งโรคไต เบาหวาน ความดัน ซึ่งเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ขยายบริการคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) ครอบคลุมไปถึงโรงพยาบาลชุมชน

5.ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ การผลิตยา วัคซีน และใบอนุญาตส่งออก พัฒนามาตรฐานการผลิตยาและวัคซีน เพื่อการพึ่งพาตนเอง และส่งขายไปยังต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาระบบการพิจารณาใบอนุญาตต่างๆ ให้เอื้อต่อธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพของประเทศ