ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอประทีป” ย้ำบัตรทองใช้งบไม่ถึง1% จีดีพี ไม่ใช่ 4.6% และใช้ระดับนี้มานานหลายปีแล้ว ชี้ค่าใช้จ่ายสุขภาพคือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนกลับมานับ 10 เท่า ชี้หากต้องร่วมจ่ายต้องณ จุดบริการ ต้องไม่สูงจนเป็นอุปสรรคในการใช้บริการ และต้องไม่แบ่งแยกประชาชน

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยที่สูง 16-17.5% เมื่อเทียบกับงบประมาณประเทศนั้น หากแยกย่อยลงไปจะพบว่าเป็นงบประมาณของ 3 กองทุนสุขภาพ รวมประมาณ 11% และหากนับเฉพาะงบของระบบหลักประกันสุขภาพ โดยตัดส่วนที่เป็นเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐซึ่งรวมอยู่ในงบบัตรทองออกไป จะมีสัดส่วนอยู่ที่ 5% ของงบประมาณประเทศเท่านั้น และอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องคงที่มา 5-6 ปีแล้ว

“งบประมาณปี 2559 ของบัตรทองเมื่อตัดส่วนที่เป็นเงินเดือนออก จะอยู่ที่ 123,000 ล้านบาท จากงบประมาณประเทศทั้งหมด 2.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5% เท่านั้น” นพ.ประทีป กล่าว

ขณะเดียวกัน หากเทียบกับมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี มูลค่า 13 ล้านล้านบาทแล้ว ตัวเลขที่มักพูดกันว่า 4.6% จริงๆ แล้วเป็นรายจ่ายด้านสุขภาพโดยรวมของทั้งภาครัฐและเอกชน แต่หากนับเฉพาะงบประมาณของบัตรทองจะสูงไม่ถึง 1% โดยอยู่ที่ 0.9% ของจีดีพีเท่านั้น และอยู่ในระดับ 0.9% มานานหลายปี ซึ่งตัวเลขงบที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีนั้น จะเพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและค่าแรงประมาณปีละ 4% ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เติบโตขึ้น

นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 4.6% ก็ยังถือว่าต่ำกว่าตัวเลขที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ โดย WHO แนะนำว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจระดับเดียวกับประเทศไทยควรมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพไม่ต่ำกว่า 5%

นอกจากนี้ หากเทียบค่าใช้จ่ายรายหัวของบัตรทองกับระบบสุขภาพอื่นๆ แล้ว ค่าใช้จ่ายรายหัวของบัตรทองอยู่ที่3,080 บาท/คน/ปี แต่หากตัดส่วนที่เป็นเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขภาครัฐออกไปแล้ว จะเหลืออยู่ประมาณ 2,500 บาท/คน/ปี ขณะที่ค่าใช้จ่ายรายหัวของประกันสังคมจะอยู่ที่ 3,400 บาท/คน/ปี ค่าใช้จ่ายรายหัวของกลุ่มพนักงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ที่ประมาณ 6,000 บาท/คน/ปี และค่าใช้จ่ายรายหัวของระบบสวัสดิการข้าราชการสูงถึง 12,000 บาท/คน/ปี

นพ.ประทีป กล่าวด้วยว่า ในส่วนของวาทกรรมว่าบัตรทองเป็นภาระประเทศนั้น อยากให้มองอีกมุมว่าเป็นการลงทุนด้านผลผลิต เพราะถ้าสุขภาพประชาชนแข็งแรง ระบบเศรษฐกิจก็จะมีผลผลิตที่ดี นอกจากนี้ WHO ก็มีการศึกษาและมีคำแนะนำว่าหากรัฐลงทุนด้านสุขภาพของประชาชน จะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีมากที่สุดแนวทางหนึ่ง เพราะทุกๆ 1 ส่วนที่ลงทุนไปนั้นจะได้ผลตอบแทนกลับมาประมาณ 10 เท่า

อย่างไรก็ดี เข้าใจว่าความกังวลที่มีอยู่ในขณะนี้ เกิดจากปัจจัยที่จะเพิ่มเข้ามาในอนาคต คือภาวะสังคมผู้สูงอายุ ความต้องการคุณภาพการรักษาที่ดีขึ้น และแนวโน้มเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ราคาสูงขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ค่าใช้จ่ายสุขภาพสูงขึ้นในอนาคต และต้องการการบริหารจัดการเพิ่มเติมในเรื่องความมั่นคงของแหล่งที่มาของรายได้ในระยะยาว โดยเรื่องนี้มีกรรมการชุดที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน เข้ามาดูรายละเอียดและเสนอรัฐมนตรีสาธารณสุขแล้ว ส่วนจะมีแนวทางแบบใดเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายต้องตัดสินใจ แต่หากจะต้องมีการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ก็ควรไม่สูงจนเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการ และต้องไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยกจนรู้สึกว่าประชาชนแต่ละกลุ่มมีศักดิ์ศรีต่างกัน