ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” เผยมติที่ประชุมบอร์ด สปสช.ขอให้ คกก.กฤษฎีกาทบทวนความเห็นดังกล่าว พร้อมตั้ง คกก.มี “หมอเสรี” เป็นประธาน ให้เวลาทำงาน 1 เดือน เพื่อออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ เอื้อต่อการทำงานของหน่วยบริการเพื่อประชาชน แล้วนำเข้าบอร์ดเพื่อดำเนินการต่อ ระหว่างนี้ให้ทำทุกอย่างตามปกติ ย้ำหน่วยบริการและประชาชนไม่ต้องกังวล ทุกอย่างเหมือนเดิม 

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในประเด็นผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา 5 ข้อ เรื่องการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น หลังจากมีผลการตีความออกมา ได้เชิญกรรมการกฤษฎีกามาคุยกันที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. และที่ปรึกษา ซึ่งกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง เพราะทราบว่าเมื่อตีความไปแล้ว อาจจะมีผลกระทบกับการทำงานของหน่วยบริการสาธารณสุขเพื่อบริการประชาชน แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องตีความตามตัวบทกฎหมาย ส่วนในเรื่องของเจตนารมณ์ต้องคุยกัน และผลการหารือร่วมกันทางกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอทางออกหลายทาง ซึ่งทางเราก็รับมาและนำมาหารือในการประชุมบอร์ด สปสช.ครั้งนี้

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช.มีมติเรื่องผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกานี้ว่า จะขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนความเห็นดังกล่าว ซึ่งเรื่องการทบทวนนี้กรรมการกฤษฎีกาก็บอกว่าทำได้ แต่หลายอย่างก็อาจต้องไปปรับระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมายด้วย เพราะต้องให้ชัดเจนในตัวหนังสือ พอบอกว่ามีเจตนารมณ์ร่วมด้วยก็ต้องคุยกันให้ชัดเจน แล้วปรับไม่ให้มีปัญหาเช่นนี้อีก เพราะตีความได้หลายอย่าง

ขณะเดียวกันมติบอร์ด สปสช.ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ โดยให้พิจารณาออกระเบียบการให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการสาธารณสุขต่อประชาชน ให้เอื้อต่อการทำงานของหน่วยบริการและคนทำงาน โดยมีเวลาการทำงาน 1 เดือน เมื่อได้ข้อเสนอผลการดำเนินงานจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด สปสช.เพื่อให้ความเห็นชอบออกเป็นประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับต่อไป

รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ มี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ และกรรมการจะมีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งกรรมการกฤษฎีกา สปสช. สธ. สตง. กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ เป็นต้น เพื่อหาทางออกในทุกประเด็น

“ระหว่างนี้ให้ดำเนินการทุกอย่างไปตามปกติ หน่วยบริการไม่ต้องกังวล ประชาชนไม่ต้องกังวลว่าจะกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามปกติ เราทำเพื่อให้การบริการไม่ติดขัด ให้หน่วยบริการไม่เดือดร้อน และทำงานราบรื่นเหมือนเดิมต่อไป บอร์ด สปสช.เป็นผู้รับผิดชอบเองครับ” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทั้งนี้ผลการตีความมี 5 ประเด็น คือ 1.การจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการขัดต่อวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

2.การที่หน่วยบริการนำงบเหมาจ่ายรายหัวไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนนอกขอบวัตถุประสงค์ 

3.บอร์ด สปสช.มีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หรือองค์กรเอกชน (ภาคประชาชน) ได้ แต่ไม่ตอบตรงๆ ว่าสามารถจ่ายให้หน่วยงานรัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และหน่วยงานในสังกัด สธ. เช่น กรมต่างๆ หน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้หรือไม่

4.การใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สปสช.สาขาจังหวัด สสจ.เป็นการใช้จ่ายนอกขอบวัตถุประสงค์ 

และ 5.การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานให้กับหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องกับล้างไตผ่านทางช่องท้อง เป็นการใช้จ่ายนอกขอบวัตถุประสงค์