ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สุราษฎร์ธานีทำโครงการพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจในเขตสุขภาพที่ 11 เหตุเป็นยาที่มีช่วงปลอดภัยแคบ ทั้งยังต้องกินยาต่อเนื่อง จึงต้องติดตามการใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ไม่ให้เกิดปัญหาอื่น ตั้งแต่ต้นทาง รพ.ศูนย์ ถึง รพ.ชุมชน โดยมี สปสช.หนุนเพื่อสร้างเครือข่ายเภสัชกร 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน เพิ่มประสิทธิภาพรักษาผู้ป่วย

ภก.ภักดี จิรัฐิติโชติ หัวหน้างานบริบาลเภสัชกรรม กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ยาวาร์ฟารินเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดชนิดหนึ่ง เพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและป้องกันภาวะการอุดตันของหลอดเลือด แต่เนื่องจากผู้ป่วยต้องใช้ยานี้ต่อเนื่อง บางรายต้องใช้ตลอดชีวิต โดยยาวาร์ฟารินมีช่วงความปลอดภัยการใช้ยาที่แคบ อาจทำให้เกิดภาวะระดับยาในเลือดที่สูงเกินไป ที่มีปัจจัยจากภาวะโรค การตอบสนองต่อยา ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีผลต่อยาที่ไม่เหมือนกันและบางคนอาจมีปัญหาจากการใช้ยาได้ เช่น เกิดภาวะเลือดออกในอวัยวะสำคัญ มีปัญหาในการห้ามเลือด เป็นต้น

ทั้งนี้นอกจากภาวะดังกล่าว ยังมีปัญหาผลการใช้ยาวาร์ฟารินของผู้ป่วยที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายการรักษา ซึ่งเกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสม กินยาไม่ถูกต้อง หากกินมากไปอาจทำให้เกิดโทษได้ การกินยาไม่ต่อเนื่อง และบางคนอาจกินร่วมกับยาอื่นควบคู่ รวมถึงยาสมุนไพรต่างๆ ที่ส่งผลต่อฤทธิ์ยา และอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามและดูแลผู้ป่วยต่อเนื่อง โดยต้องดูแลการใช้ยาผู้ป่วยตั้งแต่ต้นทาง คือในโรงพยาบาลศูนย์ และปลายทางเมื่อมีการส่งผู้ป่วยกลับไปดูแลต่อเนื่องยังโรงพยาบาลชุมชน จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟารินของเภสัชกรในเขตสุขภาพที่ 11” โดยการสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่ออบรมให้ความรู้และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง ติดตามการใช้ยาวาร์ฟารินใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน โดยมีเภสัชกรเข้าร่วม 80 คน

“ผู้ป่วยโรคหัวใจที่ถูกส่งเข้าโรงพยาบาลศูนย์แล้ว หลังรักษาจะถูกส่งกลับไปดูแลต่อที่โรงพยาบาลชุมชน โดยผู้ป่วยเหล่านี้ยังคงต้องได้รับยาวาร์ฟารินเพื่อป้องกันการอุดตันของเส้นเลือด ปริมาณยาที่ได้รับแตกต่างกันไป ตรงนี้จึงต้องมีทีมที่รับดูแลด้านยาต่อเนื่อง โดยบุคลากรที่มีความรู้และแม่นยำการใช้ยานี้ ซึ่งโครงการนี้จะทำให้เกิดการใช้ยาวาร์ฟารินที่ถูกต้อง เหมาะสม” หัวหน้างานบริบาลเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กล่าว

ภก.ภักดี กล่าวต่อว่า จากการดำเนินโครงการฯ ได้มีเภสัชกรในพื้นที่เข้ารับการฝึกอบรมการใช้ยาวาร์ฟาริน และมีข้อตกลงร่วมกันในการดูแลผู้ป่วยในเครือข่าย ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในเขตใด พื้นที่ใด จะได้รับการดูแลการใช้ยาวาร์ฟารินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยของหน่วยบริการอย่างมีประสิทธิภาพ หลังการดำเนินโครงการนี้แล้ว เป้าหมายต่อไปคือการเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่อื่นๆ เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาวาร์ฟารินในระดับประเทศ ซึ่งอาจขยายไปยังยารายการอื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามได้

“การที่ สปสช.ให้การสนับสนุนโครงการฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยของหน่วยบริการ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการได้รับการดูแล มีการใช้ยาที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปตามเป้าหมายการรักษาได้ ซึ่งในโรงพยาบาลเล็กที่ผ่านมาอาจไม่เคยใช้ยานี้มาก่อน ซึ่งโครงการนี้ทำให้เกิดการขยายหน่วยบริการให้ยาวาร์ฟารินที่ไม่จำกัดเพียงแค่โรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น ยังทำให้เภสัชกรมีความรู้และสามารถให้คำปรึกษา ดูแลและติดตามผู้ป่วยได้”

นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่าโครงการพัฒนาศักยภาพการดูแลผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟารินของเภสัชกรในเขตสุขภาพที่ 11 ที่ สปสช.ให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดศักยภาพการใช้ยาวาร์ฟารินในการดูแลผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือด ที่เป็นการจัดทำกลยุทธ์พัฒนาระบบยาของกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

ทั้งนี้ไม่เพียงแต่หนุนเสริมโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีสู่ความเป็นเลิศด้านศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังก่อให้เกิดการส่งเสริมความรู้ ทักษะในการดูแลของผู้ใช้ยาวาร์ฟาริน นอกจากนี้ยังเป็นบูรณาการด้านยาของกลุ่มเภสัชกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ จังหวัดชุมพร ระนอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง